ระบบไฟในมอเตอร์ไซค์ที่ไม่ควรมองข้าม
ระบบไฟในมอเตอร์ไซค์มีส่วนสำคัญอยู่ 3 ส่วน ดังนี้
- แบตเตอรี่
- หัวเทียน
- ระบบชาร์จไฟ
1. แบตเตอรี่
- ตรวจดูขั้วสายแบตเตอรี่่ทั้งขั้วบวกและขั้วลบว่า หลุดหลวม หรือมีขี้ตะกรันหรือไม่ ถ้ามีให้ใช้น้ำอุ่นล้าง และเอาแปลงลวดขัดให้ออก รวมทั้งตรวจสอบสายระบายไอของแบตเตอรี่ว่าอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะอาจจะทำให้ชิ้นส่วนที่ถูกไอระเหยของแบตเตอรี่ผุกร่อนได้
- ตรวจดูระดับน้ำแบตเตอรี่ให้อยู่ในระดับสูงสุด (Max) หรืออย่างน้อยต้องไม่อยู่ในตำแหน่งต่ำสุด (Min) ถ้าน้ำยามีระดับต่ำต้องรีบเติมน้ำกลั่นลงไปให้ได้ระดับ ไม่เช่นนั้นจะทำให้แบตเตอรี่เสื่อม และเสียไว แล้วยังต้องคอยสังเกตด้วยว่าน้ำยาในแบตเตอรี่่แห้ง หรือไฟหมดเร็วกว่าปกติหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องรีบเช็คระบบไฟทันที
- นอกเหนือจากการตรวจเช็คแบตเตอรี่่แล้ว ก่อนขับขี่ทุกครั้งก็ควรตรวจดูไฟสัญญาณต่างๆ ว่าทำงานเป็นปกติหรือไม่ ซึ่งถ้าไฟสัญญาณต่างๆ เริ่มอ่อน ก็เป็นอาการที่แสดงให้เห็นว่าแบตเตอรี่นั้นเริ่มที่จะเสื่อม และเริ่มที่จะจ่ายไฟได้น้อยลงแล้ว
2. หัวเทียน
- หัวเทียนสภาพไม่ปกติ จะมีคราบเขม่าดำแห้งเกาะที่ปลายฉนวนเขี้ยวไฟ และด้านในเปลือกเหล็ก
- หัวเทียนสภาพปกติ จะมีคราบสีเทา หรือสีน้ำตาล ที่ปลายฉนวนเขี้ยวไฟมีการสึกหรอน้อย
หลังจากที่เราได้ตรวจเช็คแล้ว หากเราตรวจเช็คที่หัวเทียนแล้วพบว่าเขี้ยวไฟละลาย หรือมีกระเบื้องละลายไปด้วย ถือได้ว่าอาการค่อนข้างร้ายแรง เนื่องจากเป็นอาการที่อุณหภูมิในห้องเผาไหม้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้หัวเทียนชำรุด และยังเป็นอันตรายต่อลูกสูบ โดยเฉพาะเครื่องยนต์แบบ 2 จังหวะ โอกาสที่ลูกสูบติดมีค่อนข้างสูง สำหรับสาเหตุนั้นอาจเกิดจากการใช้หัวเทียนชนิดร้อนไป หรือใช้น้ำมันอ๊อกเทนต่ำไป รวมถึงการตั้งไฟแก่ไป หรือส่วนผสมบางไป มีวิธีแก้ไขคือ ให้ใช้หัวเทียนชนิดเย็นขึ้น ใช้น้ำมันอ๊อกเทนสูงขึ้น หรือตั้งไฟจุดระเบิดให้ถูกต้องรวมทั้งต้องตรวจเช็คการระบายความร้อน และปรับตั้งคาร์บูเรเตอร์ใหม่อีกด้วย
3. ระบบชาร์จไฟ
การตรวจสอบระบบการชาร์จไฟทำได้โดยการใช้โวลต์มิเตอร์ต่อคร่อมเข้ากับขั้วของแบตเตอรี่ แต่สำหรับการวัดค่าการชาร์จโดยการวัดความถ่วงจำเพาะของกรดด้วยไฮโดรมิเตอร์นั้นไม่ควรทำ ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีกรดพอที่จะดูดขึ้นมาใส่ภาชนะเพื่อทำการวัดค่าได้ ในการวัดค่าไฟชาร์จของแบตเตอรี่นั้น ให้ปลดขั้วแบตเตอรี่ออกก่อน ค่าไฟชาร์จถ้าเป็นแบตเตอรี่ขนาด 6 โวลต์ เมื่อทำการวัดด้วยโวลต์มิเตอร์แล้วควรจะมีค่ามากกว่า 6 โวลต์เล็กน้อยถ้าหากวัดได้ 5.6 โวลต์ หรือต่ำกว่า ควรจัดการชาร์จไฟใหม่ และเมื่อชาร์จไฟแล้วค่าที่วัดได้ควรจะอยู่ประมาณ 7.6 โวลต์ แต่ถ้ามากกว่านี้ก็แสดงว่าเซลล์ใดเซลล์หนึ่งเกิดการชำรุดขึ้นมา ส่วนแบตเตอรี่ 12 โวลต์ ที่ใช้กันทั่วไปนั้น เมื่อวัดแล้วควรจะได้ค่าประมาณ 12.5 โวลต์ ถ้าวัดได้ 11 โวลต์ หรือต่ำกว่านี้ก็ควรทำการชาร์จใหม่ โดยที่ขณะชาร์จไฟ โวลต์เตจที่ขั้วควรจะได้ประมาณ 15 โวลต์ และในรถที่ใช้ระบบสตาร์ตไฟฟ้า โวลต์ของแบตเตอรี่ 12 โวลต์ ที่ชาร์จไฟเต็มแล้วควรจะอยู่ระหว่าง 8-10 โวลต์เมื่อสตาร์ทเครื่องแล้ว
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ การดูแลรักษาระบบไฟของมอเตอร์ไซค์นั้นไม่ยาก และไม่ซับซ้อนเลยใช่ไหมครับ หากเราดูแลดีๆมอเตอร์ไซค์ของเราก็จะสามารถใช้งานไปได้อีกยาวนาน และไม่ต้องคอยกังวลว่ารถจะสตาร์ตติดหรือไม่ด้วยครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก checkraka