ว่ากันว่า หากคุณขับขี่รถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ได้ ไม่ใช่แค่รวดเร็วได้แต่ในทางตรง แต่สำหรับทางโค้งนั้น ก็ต้องขับขี่ได้อย่างเฉียบคมเช่นกัน นี่คือเคล็ดลับในการควบคุมบิ๊กไบค์ในการเข้าโค้ง ซึ่งแบ่งตามประเภท และการใช้งานมาให้ทราบกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้าของรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ หรือกำลังสนใจอยู่ ก็รู้ไว้ไม่เสียหลาย
เทคนิคการควบคุมรถเข้าโค้งของรถบิ๊กไบค์ได้อย่างมั่นใจ
Lean-in
การขับขี่รถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์เข้าโค้งในลักษณะนี้ ตัวผู้ขับขี่จะต้องเอียงตัวเอง โดยช่วงศรีษะและไหล่เข้าไปในโค้งมากกว่าปกติเล็กน้อย เพื่อทำให้การขับขี่มีความกระชับและมั่นใจมากยิ่งขึ้น เหมาะสมกับการขับขี่เข้าไปในบนถนนที่มีทางโค้งด้วยความเร็วปานกลางถึงสูง นอกเหนือจะเป็นความปลอดภัยในการควบคุมรถแล้วนั้น ยังได้ท่าทางที่ถูกต้องในการขับขี่อีกด้วย
Lean-out
คุณจะต้องเอียงตัวตรงกันข้ามกับรถในทางโค้ง หรือที่คุ้นเคยกันกับคำว่า Counter steering เช่น ถ้ารถเข้าโค้งไปทางซ้าย คุณต้องเอียงตัวออกมาทางขวา โดยการเหยียดแขน และลำตัวออกมาในทิศทางที่ตรงกันข้าม แบบวิธีเดียวกับรถมอเตอร์ไซค์ในสไตล์วิบาก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับการควบคุมรถที่จะทำให้คุณเลี้ยวโค้งในที่แคบได้ดีมากยิ่งขึ้น
Lean-with
ถือเป็นอีกหนึ่งท่าขับขี่ในการเข้าโค้งพื้นฐาน คือการให้สรีระของตัวเอง ไปพร้อม ๆ กับรถมอเตอร์ไซค์ โดยให้องศาของตัวผู้ขับขี่ไปกับการเลี้ยวเข้าโค้งของรถตามปกติ ซึ่งถือเป็นท่าการขับขี่ที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน และเป็นท่าพื้นฐานในการปรับตัวเข้ากับรถเองได้อย่างดี
Hang-on
คุ้นหน้าคุ้นตากันดีกับท่านี้ในสนามแข่ง ที่คุณต้องโหนลำตัวเข้าไปมากเกินกว่าตัวรถมอเตอร์ไซค์ โดยที่แขน และเข่ากางออกไป เพื่อเข้าโค้งที่มีความเร็วสูงเป็นพิเศษ ส่วนมากมักจะพบเห็นในการแข่งขัน ในสนามแข่งที่มีการควบคุมอย่างดี โดยต้องถือว่าเป็นอีกท่าในฝันของใครหลายคน ยามลงขับขี่ในสนาม และอยากเข่าเช็ดพื้นดูซักครั้ง ยังไงก็อย่าไปลองบนถนน แนะนำให้ไปฝึกในสนาม และมีผู้เชี่ยวชาญดูแลอย่างใกล้ชิดจะดีกว่า
ซึ่งวิธีการที่กล่าวมานั้น หากฝึกฝน และขับขี่จนชำนาญ ก็จะเลือกใช้วิธีเข้าโค้ง ได้ตามสถานการณ์ที่แตกต่างกันได้อย่างสบาย แถมยังสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ขับขี่ได้มากขึ้นอีกด้วย สําหรับลูกค้า Honda BigBike สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมทักษะการขับขี่ ได้ที่ ศูนย์ขับขี่ปลอดภัยฮอนด้า
ขอขอบคุณข้อมูลจาก aphonda
ตามรอยประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของ MotoGP
สำหรับคนที่ยังไม่ทราบหรือไม่ได้คลุกคลีสนใจในวงการรถมอเตอร์ไซค์สปอร์ต หากต้องนึกถึงการแข่งขันรถมอเตอร์ไซค์สักรายการหนึ่ง ชื่อของ MotoGP คงเคยผ่านเข้าหูมาบ้างไม่มากก็น้อย แล้วการแข่งขัน MotoGP ที่ว่านี้มันมีที่มาอย่างไร ทำไมถึงกลายเป็นการแข่งขันรถมอเตอร์ไซค์ทางเรียบที่มีชื่อเสียงโด่งดังและมีแฟน ๆ คอยติดตามอยู่ทั่วโลกกันได้ขนาดนี้ บทความนี้มีคำตอบให้ตามไปอ่านกันครับ
การแข่งขัน กรังด์ปรีซ์มอเตอร์ไซค์เคิลเรซซิ่ง (Grand Prix Motorcycle Racing) ถูกจัดตั้งขึ้นโดย Fédération Internationale de Motocyclisme (FIM) หรือ สมาพันธ์จักรยานยนต์นานาชาติ ซึ่งทำการจัดแข่งขันรถมอเตอร์ไซค์ทางเรียบโดยใช้ชื่อว่า GP เป็นครั้งแรกของโลกในปี 1949 หรือ พ.ศ. 2492 ซึ่งจัดได้ว่าเป็นการแข่งขันกีฬารถมอเตอร์ไซค์สปอร์ตระดับโลกที่เก่าแก่ที่สุด โดยมีการแบ่งรุ่นการแข่งขันออกเป็น 125 cc / 250 cc / 500 cc / Side Car 600 cc ตามลำดับ ในส่วนของกฎกติกาการแข่งขันรวมไปถึงสเปกต่าง ๆ ของเครื่องยนต์เองได้มีการเปลี่ยนแปลง และปรับปรุงอยู่เรื่อย ๆ เราได้สรุปเป็น Timeline ไว้ให้เข้าใจกันง่าย ๆ ตามนี้ครับ
– ปี 2002 ทาง FIM ออกกฎการแข่งขันใหม่ โดยอนุญาตให้ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันสามารถใช้เครื่องยนต์ 4 จังหวะ รวมถึงเพิ่มขนาดความจุของเครื่องยนต์เป็น 990 cc ซึ่งสาเหตุที่มีการเปลี่ยนแปลงก็เนื่องมาจากเครื่องยนต์ 2 จังหวะเริ่มไม่เป็นที่นิยมในตลาดนั่นเอง และในปีนี้เองที่ได้เปลี่ยนชื่อรายการเป็น MotoGP อย่างเป็นทางการ
– ปี 2007 ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงกฏกติกาใหม่อีกครั้ง โดยจำกัดเครื่องยนต์ที่ 800 cc
– ปี 2010 เริ่มเปลี่ยนรุ่น 250 cc ให้เป็น 600 cc 4 จังหวะ 4 สูบ ปีนี้เองที่ทางฮอนด้า เป็นผู้จัดเครื่องยนต์ให้ทีมต่าง ๆ เพื่อความเสมอภาคเท่าเทียมกันในการแข่งขัน และเรียกรายการนี้ว่า Moto2
– ปี 2012 เปลี่ยนกฎกติกาใหม่อีกครั้ง โดยกำหนดให้
- สำหรับรุ่น MotoGP รถที่เข้าร่วมการแข่งขัน ต้องมีเครื่องยนต์ขนาด 1000 cc 4 สูบ จะเป็นเครื่อง V (เครื่องยนต์ที่ออกแบบมาให้วางทำมุมกันราว ๆ 45 องศา โดยวัดจากแนวตั้งฉากของแนวชักลูกสูบ โดยจะมีการจุดระเบิดกันตามมุมองศา และรอบเครื่องตามแต่ที่แต่ละผู้ผลิตออกแบบมา) หรือเครื่อง In-Line (เครื่องยนต์แบบกระบอกสูบเรียง) ก็ได้ แต่ต้องมีแรงม้าไม่ต่ำกว่า 240 แรงม้า และน้ำหนักโดยรวมของรถต้องไม่ต่ำกว่า 160 กิโลกรัม
- สำหรับรุ่น Moto2 กำหนดให้ใช้เครื่องยนต์ 4 จังหวะ 600 cc 4 สูบ แบบ In-Line โดยทางฮอนด้าจะเป็นผู้ผลิต และส่งมอบเครื่องยนต์ให้ทุกทีมใช้งานเพื่อความเสมอภาคในการแข่งขัน ทั้งนี้ทุกทีมที่ได้รับเครื่องยนต์ไปแล้ว สามารถนำไปปรับแต่งเพิ่มเติมได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎและกติกาที่กำหนดไว้
- สำหรับรุ่นเล็กอย่าง Moto3 กำหนดให้ใช้เครื่องยนต์ 4 จังหวะ 250 cc 1 สูบ แรงม้าต้องไม่น้อยกว่า 55 แรงม้า โดยที่เครื่องยนต์นี้แต่ละทีมสามารถออกแบบได้เอง ส่วนกติกาอื่น ๆ มีกำหนดไว้ว่านักแข่งแต่ละคนต้องมีอายุไม่เกิน 28 ปี และสำหรับผู้ที่เข้าแข่งเป็นครั้งแรกต้องมีอายุไม่เกิน 25 ปี และน้ำหนักรวมของนักขับกับตัวรถต้องไม่น้อยกว่า 148 kg
ความพิเศษที่ทำให้ MotoGP แตกต่างจากการแข่งขันมอเตอร์ไซค์รายการอื่น ๆ นั่นก็คือ รถมอเตอร์ไซค์ทุกคัน จัดว่าเป็นรถต้นแบบที่ถูกผลิตเพื่อใช้แข่งขันรายการนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีวางจำหน่ายทั่วไปแต่อย่างใด จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกทีมสามารถทดสอบเทคโนโลยีใหม่ ๆ ลงไปในตัวรถได้อย่างเต็มที่ ทำให้แต่ละทีมสามารถนำผลลัพธ์จากการทดลองในการแข่งขันไปต่อยอดและพัฒนาในรถมอเตอร์ไซค์รุ่นที่จัดจำหน่ายทั่วไปได้อีกด้วย ต้องบอกว่าเป็นกีฬาแข่งขันที่พัฒนาไปพร้อมกับยุคสมัยจริง ๆ
ส่วนเรื่องประวัติศาสตร์ และความสำเร็จของแต่ละทีมนั้น ขออนุญาตเจาะไปที่ทีม Repsol Honda ซึ่งจัดได้ว่าเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จในรายการแข่งขันนี้อย่างล้นหลาม ขึ้นครองจ้าวแห่งรายการ MotoGP ได้อย่างภาคภูมิตั้งแต่ยุคสมัยของ “จิงโจ้ไฟ” Mick Doohan ที่คว้าแชมป์ 5 สมัย และการขึ้นโพเดี้ยมอย่างสะใจของ “เดอะ เคนตั๊กกี้ คิด” Nicky Hayden มาจนถึงยุคประวัติศาสตร์ของ “เจ้าหนูระเบิด” Marc Márquez นักบิดดาวเด่นจากสเปนที่จัดการทำลายทุกสถิติที่มี และก้าวขึ้นเป็นนักขับที่มีอายุน้อยที่สุดที่ได้แชมป์ MotoGP ด้วยวัยเพียง 20 ปีกับ 63 วัน
นอกจากเรื่องการปรับเปลี่ยนสเปกเครื่องยนต์ของการแข่ง และความไม่เหมือนใครของรถแข่งใน MotoGP แล้ว จำนวนสนามที่ใช้แข่งต่อ 1 ฤดูกาลก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน นับจากปี 1949 ที่มีการจัดแข่งเพียง 6 สนามต่อปี มาจนถึงปัจจุบันในปี 2018 มีการเพิ่มการแข่งขันต่อปีทั้งหมดถึง 19 สนามทั่วโลก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนไทย เพราะ 1 ใน 19 สนามนั้น คือสนาม Chang International Circuit ณ จังหวัดบุรีรัมย์นั่นเอง ซึ่งรอบการแข่งขันของ MotoGP จะเวียนมาถึงคิวของสนามช้างของเราในช่วงเดือนตุลาคม 2018 โอกาสดี ๆ แบบนี้บอกเลยว่าห้ามพลาด ร่วมไปส่งแรงเชียร์แรงใจ และร่วมชม Marc Márquez “เจ้าหนูระเบิด” สุดหล่อดีกรีแชมป์โลก “พ่อใหญ่จิ๋ว” Dani Pedrosa และความ Professional ของทีม Repsol Honda ด้วยสายตาคุณเอง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก aphonda
เผยเรื่องใกล้ตัว สิ่งที่ปกป้องนักแข่ง MotoGP
หลายคนคงเคยเห็นชุดที่บรรดานักแข่ง MotoGP ใส่ขี่รถมอเตอร์ไซค์ในสนาม ซึ่งนอกเหนือจากสีสันที่สวยงาม ความมีเอกลักษณ์ที่นักแข่งแต่ละคนสวมใส่ ยังเต็มไปด้วยรายละเอียด และเบื้องลึกมากมาย ซึ่งส่งผลต่อการแข่งขันอย่างที่เราคาดไม่ถึง มาดูกันว่า ภายใต้หมวกกันน็อกและชุดหนังเหล่านี้ มีอะไรซ่อนอยู่กันบ้าง
1. หมวกกันน็อก
หมวกกันน็อกของนักแข่งนั้นต้องเป็นแบบเต็มใบ มีคุณสมบัติหลักคือปกป้องศีรษะของนักแข่งรถมอเตอร์ไซค์ จากการล้มและกระแทกในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ในสนาม ที่สำคัญต้องเป็นสายรัดคางแบบ DD Ring (ใส่สายรัดเข้าไประหว่างห่วงเหล็ก 2 ชิ้น) ซึ่งจะกระชับและรัดแน่นยามสวมใส่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีล้มแล้วหมวกกระเด็นหลุดออกจากศีรษะ นอกจากการป้องกันที่ดีของหมวกแล้ว ต้องมีน้ำหนักเบาเพื่อเป็นการลดภาระให้นักแข่ง และออกแบบมารับกับแรงลมได้ดียามสวมใส่ในความเร็วสูง ซึ่งมีผลต่อทัศนวิสัยในการแข่งขันอีกด้วย
2. ชุดหนัง
ชุดของนักแข่งเป็นสิ่งที่สำคัญและมีรายละเอียดภายในอยู่เยอะมาก ภายนอกเป็นเหมือนหนังอีกชั้นหนึ่งของนักแข่งรถมอเตอร์ไซค์ ที่นอกจากจะยืดหยุ่นได้สูง เพื่อให้นักแข่งเคลื่อนไหวได้ง่ายขณะแข่งขันแล้ว ยังป้องกันผิวหนังตอนล้มไถลในระหว่างการแข่งขันได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ส่วนภายในชุดนักแข่งยังติดตั้งถุงลมนิรภัยใส่ไว้อีกชั้น โดยมีเซ็นเซอร์การ์ดป้องกันบริเวณต่าง ๆ ไล่จากโหนกที่นูนออกมาบริเวณหลัง หัวไหล่ หัวเข่า ข้อศอก ซึ่งจะเห็นได้ว่ารับการเสียดสีกับสนามได้เป็นอย่างดี ให้ลองคิดภาพ Marc Márquez เข้าโค้งด้วยความเร็วสูงแทบจะนอนไปกับพื้นสนามดูสิ
3. ถุงมือ
ถุงมือของนักแข่งต้องเป็นถุงมือข้อยาว เหตุผลก็เพราะว่าต้องช่วยล็อกข้อมือของนักแข่งรถมอเตอร์ไซค์ให้กระชับ และป้องกันข้อมือผิดรูปเมื่อเกิดอุบัติเหตุ โดยบริเวณภายในฝ่ามือก็ต้องมีจุดจับที่กระชับต่อคันเร่ง และมีคุณสมบัติทนต่อการเสียดสีได้เป็นอย่างดี เพราะการล้มแต่ละครั้งนั้น ฝ่ามือมักจะเป็นจุดแรกที่ไถลและสัมผัสไปกับพื้นสนาม ส่วนด้านหลังข้อมือและข้อต่อของนิ้ว มักจะเป็นการ์ดแข็ง ป้องกันการกระแทกด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งถุงมือหนังต้องแข็งแรงและทนทานต่อการใช้งานเพราะมือเป็นจุดที่บอบบาง และเสียหายแน่นอนถ้าบิดคันเร่งต่อไม่ไหว
4. รองเท้า
สิ่งสำคัญที่คอยปกป้องเท้าของนักแข่งรถมอเตอร์ไซค์นั้นก็พิเศษไม่เหมือนกับรองเท้าทั่ว ๆ ไป โดยจะเป็นวัสดุที่มีความยืดหยุ่นสูงและแข็งแรงอย่างมาก ส่วนปลายของรองเท้าถูกออกแบบมาให้สัมผัสกับการเข้าเกียร์ได้ง่ายยิ่งขึ้น และพื้นรองเท้าก็มียางป้องกันลื่นทำให้ขับขี่ได้มั่นใจ ซึ่งรองเท้าจะต้องมีความกระชับและสวมใส่ได้อย่างสบายเท้าอีกด้วย โดยนอกเหนือจากป้องกันอุบัติเหตุแล้วก็ถือเป็นแฟชั่นที่สร้างความสวยงามของนักแข่งแต่ละคนด้วยนั่นเอง
5. การ์ดป้องกัน
สิ่งสำคัญอีกชิ้นที่อยู่ภายในตัวของนักแข่งรถมอเตอร์ไซค์ บริเวณหน้าอก และหลัง เรามักมองไม่เห็นจากภายนอก เพราะมันอยู่ระหว่างร่างกายและชุดแข่ง บางรุ่นใส่ในชุดแข่ง บางรุ่นเป็นชิ้นแยกจากชุดแข่งเลย คุณสมบัติการ์ดชนิดนี้ จะช่วยผ่อนแรงกระแทกจากภายนอก ที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายในจุดสำคัญ การ์ดด้านหลังก็ช่วยป้องกันแผ่นหลัง และบริเวณกระดูกสันหลัง ส่วนการ์ดด้านหน้าก็จะป้องกันแรงกระแทกที่หน้าอกและซี่โครง ซึ่งผ่อนหนักเป็นเบาได้ดีทีเดียว
ชุดแข่งจึงเป็นอีกเคล็ดลับที่ช่วยให้นักแข่งขับรถมอเตอร์ไซค์ได้อย่างราบรื่น เพราะหลายต่อหลายครั้ง นักแข่งล้มรอบซ้อม หรือล้มระหว่างแข่ง แต่ก็ยังสามารถลุกขึ้นมาแข่งต่อได้ เพราะฉะนั้นนอกจากฝีมือและใจที่สู้ไม่ยอมแพ้แล้ว ชุดแข่งเหล่านี้จึงเป็นไอเท็มสำคัญที่ช่วยนักแข่งได้มากจริง ๆ ไม่เชื่อดู Marc Márquez เป็นตัวอย่างได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก aphonda
สัญลักษณ์ธงในการแข่งขัน MotoGP ที่ควรรู้
เนื่องจากในเดือนตุลาคมจะมีการแข่งขัน MotoGP สนามที่ 15 ซึ่งจะเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ณ จังหวัดบุรีรัมย์ และเพื่อทำให้การดู MotoGP สนุกมากยิ่งขึ้น การรู้จักสัญลักษณ์ธงถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ไม่ควรพลาดเพราะถือเป็นองค์ประกอบหลักของการแข่งขันในทุก ๆ สนาม ถ้าคุณอยากเป็นตัวจริงในการแข่งขัน MotoGP ต้องรู้ !!
1. ธงดำพร้อมเบอร์รถมอเตอร์ไซค์ – ทำผิดต้องออก
เป็นการแจ้งว่านักแข่งทำผิดกฎกติกา รถคันนั้นจะต้องเข้าพิทในรอบนั้นทันที และไม่สามารถกลับมาแข่งต่อได้อีก ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่าไหร่ สำหรับใครที่โดนโบกธงดำใส่ก็ไม่ต้องไปแข่งให้เหนื่อย ไปนั่งดูคนอื่นแข่งเงียบ ๆ ได้เลย แต่ก็ต้องหมดลุ้นการได้แต้มจากสนามนั้น ๆ ไปโดยปริยาย
2. ธงดำวงกลมส้ม – รถเสีย เกิดปัญหา
เป็นการบอกว่ารถคันนั้นอาจจะเกิดปัญหาขึ้นซึ่งประเมินแล้วอาจจะส่งผลเสียต่อตัวนักแข่งและการแข่งขัน จึงต้องออกจากการแข่งขัน ยกตัวอย่างเช่น รถมีควัน หรือ ไฟออกมาจากรถโดยไม่ทราบสาเหตุ ธงนี้ก็จะถูกโบกพร้อมกับเบอร์นั้น ๆ เป็นการแจ้งให้ทราบโดยทั่วกัน
3. ธงขาวลายกากบาท กับธงลายทางสีแดงบนพื้นสีเหลือง – ถนนเปียกลื่นระมัดระวัง
เมื่อเห็นธงทั้ง 2 ชนิดถูกโบกพร้อมกันในบริเวณสนาม นักแข่งที่ทำการแข่งขันทุกคนต้องทราบและระมัดระวังให้มาก เพราะนี่คือคำเตือนเรื่องของสภาพสนามที่เริ่มเปียกแฉะเนื่องจากน้ำฝน หรือมีคราบน้ำมันเครื่องที่อาจทำให้เกิดการลื่นและทำให้เสียสภาพการควบคุมระหว่างการแข่งขันได้ง่าย ๆ
4. ธงขาว – ถนนเปียก
เป็นการแจ้งเตือนนักแข่งว่าสนามเปียกและลื่นมากพอที่จะทำให้เกิดอันตรายหากไม่เปลี่ยนรถ โดยนักแข่งได้รับอนุญาตให้กลับเข้าพิทเพื่อเปลี่ยนรถและยางที่เหมาะกับสภาพสนามเปียกมากขึ้น ซึ่งก็อยู่ที่ทีมกับนักแข่งจะสื่อสารเรื่องเปลี่ยนยางกันอย่างไร เพื่อเตรียมลงมาแข่งขันกันต่อไปครับ
5. ธงเหลือง – ระมัดระวัง
มาถึงธงสีเหลืองกันบ้าง โดยการโบกธงเหลืองนั้นแบ่งการใช้งานตามสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป ในกรณีก่อนการแข่งขัน ถ้าโบกบริเวณแต่ละแถวของกริดสตาร์ท หมายความว่าการแข่งขันอาจมีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น ทำให้เกิดความล่าช้าจนต้องเลื่อนเวลาเริ่มแข่งออกไป แต่ถ้าโบกบริเวณแถวใดแถวหนึ่งของกริดสตาร์ท จะหมายถึงรถแข่งสักคันในแถวนั้น ๆ อาจจะมีปัญหาเกิดขึ้นทำให้ไม่พร้อมที่จะแข่งขันได้ในทันที
ส่วนในกรณีที่เริ่มแข่งไปแล้ว ถ้าเราเห็นธงสีเหลืองโบกบริเวณก่อนทางตรง หรือทางโค้งที่จะถึงในระหว่างการแข่งขัน นักแข่งต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้น เพราะบ่งบอกว่าอาจมีเหตุอันตรายบริเวณข้าง ๆ สนามแข่ง ให้นักแข่งลดความเร็วลง และห้ามแซงกันจนกว่าเหตุการณ์จะกลับสู่ปกติ แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการโบกธงเหลืองถึง 2 ธงด้วยกัน แสดงว่าอาจเกิดเหตุอันตรายและมีบางอย่างมากีดขวางบนสนามแข่ง ยกตัวอย่างเช่น มีรถล้มอยู่ข้างหน้า กีดขวางเส้นทางแข่งขัน ซึ่งเมื่อเราเห็นการโบกธงดังกล่าว สำหรับนักแข่งเองต้องลดความเร็วลงและเตรียมพร้อมที่จะหยุดรถ ห้ามแซงเด็ดขาดจนกว่าจะถึงจุดที่มีการเปลี่ยนมาโบกธงสีเขียวแทน (แข่งขันได้ต่อ) ซึ่งถ้านักแข่งฝ่าฝืนกฎของธงเหลือง จะมีผลต่อลำดับของการแข่งขันได้ เมื่อกลับมาแข่งต่ออีกครั้งหนึ่ง
6. ธงฟ้า – น็อกรอบ
เห็นธงสีนี้เป็นสัญญาณเตือนนักแข่งมอเตอร์ไซค์ ว่ามีรถด้านหลังที่เร็วกว่ากำลังจะน็อกรอบ ดังนั้นโปรดหลบเพื่อให้คันที่เร็วกว่าน็อกรอบแซงไปเลย เป็นการลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากรถที่มีความเร็วแตกต่างกัน อีกแง่หนึ่งนักแข่งที่ถูกโบกธงนี้ คงไม่มีใครรู้สึกดี เพราะไม่มีใครอยากถูกน็อกรอบในการแข่งขันระดับนี้ พูดแล้วก็เศร้า
7. ธงแดง – อันตราย
เป็นการบอกว่าหยุดการแข่งขันก่อน เพราะอาจจะเกิดความไม่ปกติในสนามแข่ง รถทุกคันจะต้องชะลอความเร็วและทยอยกลับเข้าพิท ซึ่งจะทำการแข่งขันต่อหรือไม่นั้น ก็ต้องมาดูเงื่อนไขของระยะต่อรอบที่ทำการแข่งขันไปก่อนหน้า โดยแบ่งให้เข้าใจง่าย ๆ ตามนี้
- แข่งขันไปได้ 3 รอบ หรือน้อยกว่านั้น
ในกรณีนี้ หากสามารถทำการแข่งขันต่อได้จะต้องแข่งใหม่ตั้งแต่ต้น แต่ถ้าหากไม่สามารถแข่งขันต่อได้ก็จะยกเลิกการนับคะแนนในสนามนั้นไปเลย
- แข่งขันไปได้มากกว่า 3 รอบ แต่น้อยกว่า 2/3 ของการแข่งในสนามนั้นสำหรับ Moto2 และ Moto3 หรือ 3/4 ของการแข่งในสนามนั้นสำหรับ MotoGP
หากนักแข่งสามารถทำการแข่งขันต่อได้ นักแข่งทุกคนจะกลับมาเริ่มที่จุดสตาร์ทใหม่อีกครั้ง โดยลำดับการออกตัวจะยึดตามลำดับของรอบล่าสุดก่อนที่ธงแดงจะโบก แต่ในกรณีที่ไม่สามารถแข่งต่อได้นั้น ก็จะยกเลิกการแข่งขันโดยจะนับคะแนนเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น
- แข่งขันไปได้มากกว่า 2/3 ของการแข่งในสนามนั้นสำหรับ Moto2 และ Moto3 หรือ 3/4 ของการแข่งในสนามนั้นสำหรับ MotoGP
การแข่งขันจะจบลง และนับคะแนนเต็มตามปกติ โดยยึดคะแนนตามลำดับรอบล่าสุดที่แข่งขันก่อนที่ธงแดงจะโบก
ถือว่าเป็นธงอีกสีที่ไม่มีใครอยากจะเห็นในการแข่งขัน เพราะนั่นหมายถึงมีเหตุการณ์อันตรายเกิดขึ้นแน่นอน
8. ธงเขียว – ลุยต่อได้
ธงเขียวมักจะใช้ต่อจากธงเหลืองเพื่อแสดงความปลอดภัยของสนามว่าสามารถดำเนินการแข่งขันต่อได้ตามปกติ และนอกจากนั้นยังใช้โบกในรอบแรกของ Practice Session (รอบซ้อม) และช่วง Warm Up ทั้งในรอบ Sighting Lap และ Warm Up Lap เพื่อเป็นการบอกว่าทางสะดวก ไม่มีอะไรมากีดขวางสนาม รวมถึงหากโบกธงเขียวบริเวณทางออกของพิทเลน ก็จะเป็นการบอกว่าพิทเลนได้เปิดแล้ว สามารถนำรถแข่งออกจากพิทลงสู่สนามได้เลย
9. ธงตราหมากรุก – จบการแข่งขัน
เป็นสัญญาณการสิ้นสุดการแข่งขันมอเตอร์ไซค์ในรอบนั้น ๆ ซึ่งใครที่ผ่านธงตราหมากรุกเป็นคนแรก ก็จะเป็นผู้คว้าชัยชนะในสนามนั้นไปครอง
การเรียนรู้สัญญาณต่าง ๆ จากสัญลักษณ์ธงในการแข่งขันนั้น นอกจากจะทำให้เราดู MotoGP ได้อย่างเข้าใจมากยิ่งขึ้นแล้วนั้น ยังทำให้รับรู้ได้อีกว่า การแข่งขันระดับโลก ย่อมมีรายละเอียด และมาตรฐานความปลอดภัยระดับโลกด้วยเช่นกัน เรื่องของ สัญลักษณ์ธง ถือเป็นตัวอย่างเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี นี่ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่นำมาฝากให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ก่อนไปเชียร์ด้วยกันที่บุรีรัมย์ แล้วพบกันครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก aphonda
11 เรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับ นักแข่ง MOTOGP
Column of the Month เรามีเรื่องราวสาระที่น่าสนใจเกี่ยวกับวงการรถจักรยานยนต์มาฝากแฟนๆในเว็ปไซต์ เริ่มต้นคอลัมน์ในวันนี้ เราขอนำเสนอ 11 เรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเป็นนักแข่งMotoGP ว่าการเป็นนักแข่งระดับโลกนี้จะต้องผ่านอะไรและเรียนรู้อะไรในช่วงของการ่วมลงทำการแข่งขัน ซึ่งวันนี้เราขอนำเสนอเรื่องราวที่สื่ออย่าง The Telegraph ของอังกฤษ ได้รวบรวมถามตอบจาก Bradley Smith นักแข่งชาวอังกฤษจากทีมมอสเตอร์ ยามาฮ่า เทค 3 ผู้ที่ซึ่งเป็นพรีเซ็นเตอร์ยามาฮ่า M-SLAZ กับการนำมาเผยแพร่เกี่ยวกับเรื่องราว 11 อย่าง ที่น่ารู้เกี่ยวกับการเป็นนักแข่ง MotoGP ซึ่งแน่นอนล่ะบางอย่าง สายมอเตอร์สปอร์ตหลายๆคนก็คงจะรู้อยู่แล้ว แต่บางส่วนก็อาจจะยังไม่รู้ วันนี้ทีมงานนิตยสารจักรยานยนต์เวิร์ลด์ เลยเอามาฝากกันแฟนๆMotoGP ให้ทราบกัน
1.นักแข่งใน MotoGP จะใช้ความเร็วในการขับขี่รถแข่งเฉลี่ยเกินกว่า 100mph ระหว่างการแข่งขัน ซึ่ง Smith ได้บอกว่าเขาทำความเร็วสุงสุดกับ YZR-M1 ของทีม Tech3 ด้วยความเร็วสูงสุด 215 mph แต่เมื่อมีการเปิดบิดคันเร่งในจังหวะต่างๆของการแข่งขันแล้วโดยเฉลี่ยระหว่างการแข่งขัน จะใช้ความเร็วเฉลี่ยประมาณ 110 mph
“ รถแข่งที่ผมขี่มีกำลังถึง 250แรงม้า มากกว่ารถยนต์ที่ผมใช้ซะอีก กับสองล้อของรถแข่งMotoGP ในเกียร์ห้า คุณสามารถเร่ง 0-60mph ในเวลาเพียง 2.6 วินาทีเท่านั้น”
2. รถแข่งจะมีน้ำหนักเป็นสองเท่าของน้ำหนักเฉลี่ยผู้ชายตัวใหญ่ ดังนั้นเมื่อจะต้องมาควบคุมรถแข่งMotoGP คุณจะต้อง แข็งแรงของร่างกายให้ถึง
“ รถแข่งของผมหนักประมาณ 160 ก.ก. ซึ่งถือว่าหนักพอสมควรเมื่อต้องขี่มันวนอยู่ในสนามแข่ง คุณต้องมีกำลังมีความแข็งแกร่งมากพอที่จะควบคุมมัน ”
นอกจากการฝึกซ้อมในสนามแข่งแล้ว Smith จะต้องเข้ายิมเพื่อฝึกสมรรถนะร่างกายที่เรียกว่า ”อย่างจริงจัง” โดยเฉพาะในส่วนของแขน , ไหล่ และลำตัว เพื่อให้มีความแข็งแกร่งและทนทาน เพื่อที่จะรับ”แรง” จากการควบคุมรถแข่งที่มีน้ำหนักมากในขณะที่ใช้ความเร็วสูงเช่นนั้น
“การแข่งรถอาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ แต่สำหรับผมบอกได้เลยว่า มันเป็นงานที่ต้องจริงจังและซีเรียสอย่างยิ่ง ที่จะต้องดูแลร่างกายให้อยู่ในสภาพที่ฟิตสมบูรณ์”
3.นักแข่งจะสูญเสียน้ำ(เหงื่อ)มากถึง 2 ลิตร ระหว่างการแข่งขัน เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการแข่งรถจักรยานยนต์ที่นักแข่งจำเป็นจะต้องมีความแข็งแกร่งของสภาพร่างกายอย่างมาก เพราะด้วยสภาพการแข่งขัน โดยเฉพาะในเกมระดับ MotoGP ด้วยแล้ว จะมีผลอย่างยิ่งต่อความเมื่อยล้า อ่อนเพลียของร่างกายระหว่างที่แข่งขัน มากกว่ากีฬาชนิดอื่นๆ
“ อาจจะเรียกได้ว่ามันเป็นความเลวร้ายอย่างยิ่งเมื่อต้องลงแข่งในสภาพอากาศที่ร้อน อย่างอากาศร้อนระดับ 36องศาที่มาเลเซีย หรือ ความชื้นระดับ70เปอร์เซ็นต์ที่ญี่ปุ่น มันมีผลโดยตรงที่ก่อให้เกิดความร้อนภายในร่างกาย รวมทั้งยังก่อให้เกิดความตึงเครียดยิ่งขึ้นกับกล้ามเนื้อในขณะที่แข่งขันอยู่นั้น บ่อยครั้งที่หลังแข่งขันแล้วพบว่าเสียเหงื่อมากถึงสองลิตรในเวลาเพียง 45 นาที”
4.ขณะอยู่ในโค้งหน้าสัมผัสยางกับพื้นผิวน้อยมาก ทั้งยางเดิมก่อนหน้านี้ของ Bridgestone ขนาด 16.5 นิ้ว และ ยางปัจจุบันของ Michelin ขนาด 17 นิ้ว ต่างก็ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อให้มีความหนึบ ที่จะสามารถยึดเกาะได้ดีในขณะแข่งขันโดยเฉพาะขณะอยู่ในโค้ง
“ ปกติทั่วไปในโค้งเราจะเลี้ยวทำมุม 55 องศาดังนั้นพื้นที่ของหน้าสัมผัสยางจึงมีไม่มากนัก ต้องบอกว่าด้วยความเร็วที่ใช้กันนั้น ประสิทธิภาพของยางนั้นมันสุดยอดมาก แน่นอนว่ามันไม่ใช่เนื้อยางธรรมชาติแต่เป็นกระบวนการทางเคมีที่พัฒนามาเพื่อสร้างส่วนผสมของเนื้อยางให้มีคุณสมบัติที่ดีสำหรับการแข่งขันโดยเฉพาะ มันคือความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง อีกทั้งในขณะฝนตกเราก็สามารถใช้ยางแข่งขันด้วยความเร็วเฉลี่ยต่อรอบสนามในระดับ 95mph อย่างสบายๆ แต่ทว่ายางที่เราใช้กันนี้ ถ้าตีเป็นมูลค่าของเงินถือว่าไม่ถูกเลย เฉลี่ยแล้วมันมีมูลค่าประมาณ 1,000 ยูโร ต่อคู่ ”
5. หนังจิงโจ้ ช่วยให้มีความปลอดภัยในการแข่งขัน มันซับแรงและลดความรุนแรงได้อย่างยอดเยี่ยม
“ ชุดแข่งของผมผลิตจากหนังจิงโจ้ เพราะมันเป็นหนังที่มีคุณสมบัติในการยืดหยุ่น และให้ตัวได้ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ มันเปรียบได้กับผิวหนังชั้นที่สองของเรา และคุณสมบัติของมันช่วยให้การเคลื่อนไหวตัวของผมขณะอยู่บนรถแข่งทำได้โดยง่าย ด้วยความหนาเพียง 3-5 ม.ม.-ของหนังจิงโจ้นี้ มันสามารถปกป้องตัวผมได้อย่างยอดเยี่ยม ”
6.นักแข่งสวมชุดที่ป้องกันมากกว่าชุดเกราะของ batman โดยปกติตามข้อบังคับของการแข่งขัน motoGP นักแข่งจะต้องมีชุดหนังที่ให้ความปลอดภัยสูงสุดขณะที่ล้มด้วยความเร็วสูง จึงมีการกำหนดสเปคและกระบวนการทดสอบสำหรับชุดแข่งและอุปกรณ์ประเภทไรดิ้งเกียร์ที่มีมาตรฐานสูงมาก
“ มันเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง ในการที่จะปกป้อง ไหล่ ศอก แขน ข้อมือ ฝ่ามือข้อเท้า แข้ง เข่า ศรีษะ กล่าวคือ ทุกๆส่วนของร่างกายของนักแข่งจะต้องได้รับการป้องกันอันตรายจากอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาระหว่างแข่งขัน ซึ่งยังรวมถึงแรงกระแทกที่อาจจะเกิดกับ หน้าอก ซี่โครง กระดูกสันหลัง สะโพก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีแผ่นป้องกันรองรับติดตั้งไว้ในชุดแข่งเพื่อลดความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นนั้น ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตเรซซิ่งสูท ได้มีการพัฒนาระบบ air back ติดตั้งมาใช้เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุที่ล้มด้วยความเร็วสูง ”
7.รถแข่ง ในปัจจุบันอาจเปรียบได้กับคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่
“ รถแข่งของผม ไม่สิ ในทีมของผม มีความต้องการข้อมูลต่างๆในระหว่างแข่งขันหรือในระหว่างการลงวิ่งในสนามแต่ละครั้งนั้น มากกว่า 500 ข้อมูล โดยจะเก็บข้อมูลผ่านทางเซ็นเซอร์และอุปกรณ์ต่างๆที่ติดตั้งเข้าไปบนตัวรถแข่ง และในระหว่างแข่งขันนั้น ชุดเรือนไมล์ก็แตกต่างจากรถจักรยานยนต์ทั่วไป ที่ปกติจะมีความต้องการข้อมูลเรื่องความเร็ว ระยะทาง หรือ ความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง สำหรับรถแข่ง MotoGP แล้วนั้น บนชุดเรือนไมล์ก็คือ จอมอนิเตอร์ที่จะบอกข้อมูลแทบทุกอย่างที่มีความจำเป็นสำหรับการแข่งขัน นี่ยังไม่รวมข้อมูลจากชุดควบคุมระบบการทำงานเครื่องยนต์ที่จะเก็บข้อมูลต่างไว้ให้ทีมงานได้นำออกไปใช้ในการวิเคราะห์ด้านต่างๆที่มีความสำคัญต่อการปรับเซ็ทและพัฒนารถแข่ง สำหรับผมแล้วบางครั้งก็รู้สึกว่ามันมีข้อมุลมากเกินไปหรือเปล่า จากที่ปกติในการแข่งขันทั่วไป เพียงแค่ความเร็วต่อรอบ และ เกียร์ที่ใช้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่ทว่าด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน ผมสามารถที่จะรู้ได้ว่า แต่ละช่วงเวลาที่ผมขี่นั้นเวลาแตกต่างกันในรอบที่ผ่านมามากน้อยแค่ไหน หรือผมสามารถที่จะรู้ได้ว่าจะต้องบวกเพิ่มอีกมากไหม จึงจะสามารถทำเวลาต่อรอบได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ นี่ยังไม่รวมสัญญาณไฟที่คอยกระพริบแจ้งเตือนว่าถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้วที่จะต้องเปลี่ยนเกียร์ในขณะที่ได้กำลังสูงสุด เป็นต้น ”
8. รถที่ไม่มีเครื่องยนต์ก็มีความสำคัญอย่างมาก(จักรยานออกกำลังกาย) นักแข่งจำเป็นจะต้องออกกำลังเพื่อพัฒนาในส่วนของ cardiovascular (การออกกำลังที่เน้นเรื่องของระบบหัวใจและหลอดเลือด) ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อมีส่วนช่วยให้ร่างกายมีสมรรถนะที่ดีในการที่จะควบคุมรถแข่งในเกมระดับ MotoGP
“ ผมมักจะต้องปั่นจักรยานอย่างมากเพื่อรักษาระดับความฟิต เหมือนกับนักแข่งร่วมชาติของผมอย่าง คาล คลัทช์โลว์ ที่มักจะมีโอกาสปั่นจักรยานร่วมกับ mark Cavendish(นักแข่งจักรยานชื่อดังระดับโลก) การปั่นจักรยานเป็นกีฬาที่มีผลกระทบหรือสร้างแรงบีบเค้นกับร่างกายน้อยมาก ดังนั้นมันจึงเป็นการออกกำลังที่น่าจะมีประโยชน์กับนักแข่งรถจักรยานยนต์อย่างมากที่จะคงระดับความฟิตของร่างกายไว้ หากเทียบกับการวิ่งแล้วการวิ่งออกกำลังนั้นมันจะมีแรงกระทบกับกล้ามเนื้อมากกว่า จากการที่ช่วงขาต้องรับแรงกระแทกขณะที่ทิ้งน้ำหนักตัวลงไปดังนั้นคงไม่เหมาะหากจะต้องวิ่งทุกๆวัน แต่โดยปกติแล้วผมจะออกกำลังที่หลากหลายเพื่อคงความฟิต โดยจะสลับกันไปในแต่ละประเภท ซึ่งรวมถึงการ ฝึกซ้อมขี่รถโปรดักชั่น การขี่รถโมโตครอส หรือ การขี่รถวิบากทั่วไป ซึ่งมันช่วยสร้างความสนุกสนานในการออกกำลังกายได้บ้าง แต่การปั่นจักรยานนั้นคือ สิ่งที่ทำได้บ่อยที่สุดสำหรับผมในการที่จะคงระดับความฟิตของร่างกาย โดยที่ไม่ก่อให้เกิดความล้าหรืออ่อนเพลียกับร่างกายหรือกล้ามเนื้อมากเกินไป ”
9.นักแข่ง MotoGP จะใช้เวลารวมถึงครึ่งปีในการเดินทางตระเวนไปสนามแข่งต่างๆ
“ ในหนึ่งฤดูกาลแข่งขันจะใช้เวลาประมาณ 9 เดือน ซึ่งในช่วงนี้นั้นเราทุกคนจะยุ่งกับการเดินทางอย่างมาก หากคิดเป็นจำนวนวันแล้ว เราจะใช้เวลาถึง 180 วัน สำหรับการเดินทางสำหรับแต่ละปี”
10.เส้นพาสต้าและข้าว คือ แหล่งพลังงานที่ดีที่สุด
“ มันเป็นเรื่องที่ยากเหมือนกันว่าจะกินอะไรดี ในช่วงก่อนแข่ง เพราะบางครั้งอาจจะทำให้แน่นไป ถ้ากินมากเกิน หรือกินของผิดประเภทที่ย่อยยาก ก็จะทำให้ปวดท้องได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีช่วงเวลาเพียง 45 นาที ก่อนที่จะลงสนามแข่งขัน ดังนั้นนักแข่งแต่ละคนจะต้องมีตัวเลือกอาหารของตนเองไว้ ในช่วงสัปดาห์ของการแข่งขัน ซึ่งผมเองนั้น จะมีข้าวกล้องกับไก่ บางทีก็เป็นทูน่า หรือไม่ก็จะกินพาสต้า ซึ่งปกติแล้วผมจะกินอาหารหลักในมื้อก่อนแข่งประมาณสามชั่วโมง ดังนั้นต้องมั่นใจว่า มันให้พลังงานกับร่างกายได้พอที่จะยืนหยัดในเกมการแข่งขัน ”
11.นักแข่ง MotoGP จะต้องมีความทรงจำที่สั้น(ลืมเรื่องที่ไม่จำเป็นได้ง่าย)
“ ผมเป็นหนึ่งในนักแข่งที่ล้มบ่อยในแต่ละฤดูกาล ดังนั้นเมื่อเราล้ม สิ่งหนึ่งที่มีความจำเป็นก็คือ จะต้อง ลืมมันให้หมด เพราะถ้าในสมองยังคงมีเรื่องราวความคิดที่เกี่ยวกับการล้มนั้น มันจะก่อให้เกิดความลังเล และแน่นอนว่าความลังเลนี้เองที่จะส่งผลให้เราไม่สามารถที่จะขี่ได้ดีพอ เพราะ สมองคิดหรือกังวลอยู่กับภาพเดิมๆนั้น ดังนั้นตัวเราจะไม่สามารถรีดประสิทธิภาพสูงสุดออกมาได้ในการแข่งขันนั้นๆ ซึ่งเพียงช่วงเวลาหนึ่งในส่วนพันวินาทีของการแข่งขัน มันสามารถที่จะตัดสินชัยชนะได้ตลอดเวลา สมองจะต้องไม่จดจำความผิดพลาดหรือสิ่งที่ไม่ดีระหว่างแข่งขัน ใจจะต้องไม่ลังเล ”
ขอขอบคถณข้อมูลจาก motobikeworldmag
มารู้จักรถแข่ง MotoGP ให้มากขึ้นกันดีกว่า!!
หลายคนที่ได้ดูการแข่งขันรายการมอเตอร์ไซค์ทางเรียบชิงแชมป์โลก หรือที่เรียกกันว่า MotoGP ซึ่งดูแล้วอาจคิดว่า รถที่ใช้แข่งทำไมมันแรงได้ใจขนาดนี้ วันนี้ทีมงาน MotoWish จึงนำข้อมูลของรถแข่ง MotoGP มาบอกเพื่อนๆให้รู้จักมันมากขึ้น เพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชมให้มันส์ และสนุกกว่าเดิม
ก่อนอื่นต้องบอกว่ารถแข่ง MotoGP ถือว่าเป็นที่สุดของรถแข่งในวงการสองล้อทางเรียบ ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นก็คงเหมือนรถแข่ง Formula 1 ซึ่งเป็นที่สุดของรถแข่งสี่ล้อ อย่างไรอย่างนั้น โดยมันเป็นรถต้นแบบ (Prototype โปรโตไทป์) ที่สร้างขึ้นมาเพื่อการแข่งขันเท่านั้น
รถพวกนี้ถูกสร้างและประกอบขึ้นแบบ Handmade และมีมูลค่าหลายล้านดอลล่าร์ (โดยว่ากันว่ามันมีค่าตัวไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาทเลยทีเดียว) และยังอัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีที่สุดยอด เรียกว่าเป็นความพยายามของมนุษย์ที่จะต่อสู้กับเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาให้มันเป็นรถแข่งที่ยอดเยี่ยมที่สุด
คราวนี้มารู้จักรถแข่ง MotoGP ให้มากขึ้นอีก ปัจจุบันรถแข่งที่ใช้ในการแข่ง MotoGP ต้องมีซีซีไม่เกินกว่า 1000 ซีซี และต้องเป็นเครื่องยนต์ 4 จังหวะ ลูกสูบจำกัดให้มีได้สูงสุด 4 ลูกสูบเท่านั้น และขนาดของกระบอกสูบต้องไม่เกินกว่า 81 มม.
ลูกสูบของเครื่องยนต์ต้องเป็นลูกสูบแบบปกติ ไม่สามารถใช้เป็นลูกสูบหัวแหลม หรือเป็นเครื่องยนต์แบบโรตารี่ และห้ามมีเทอร์โบ หรือซุปเปอร์ชาร์จ ในการแข่งขัน 1 ฤดูกาลนักแข่งแต่ละคนมีเครื่องยนต์ที่ใช้ในการแข่งขันได้คนละ 7 เครื่องเท่านั้น และไม่อนุญาตให้พัฒนาเครื่องยนต์ในระหว่างปีการแข่งขันอีกด้วย
น้ำมันเชื้อเพลิงใช้ได้สูงสุดไม่เกิน 22 ลิตร ในการแข่งขันแต่ละสนาม ซึ่งทีมต้องคำนวณแล้วว่าจะทำอย่างไรให้ใช้น้ำมันได้อย่างเพียงพอ และมีประสิทธิภาพต่อการแข่งขันแต่ละสนามมากที่สุด โดยแต่ละสนามจะมีระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร
ส่วนของจานเบรกเป็นแบบคาร์บอนโดยจะใช้ในกรณีสภาพสนามแห้งๆ ซึ่งจานเบรกคาร์บอนสามารถทนความร้อนได้ถึง 800 องศา ส่วนในสนามเปียกนิยมแบบสแตนเลสสตีล ด้านยางรถแข่งทุกคันใช้ยางยี่ห้อเดียวกันหมด (ซึ่งในปัจจุบัน มิชลินเป็นผู้สนับสนุน) ส่วนการเลือกใช้ยางประเภทใดก็ขึ้นอยู่กับทีมแข่ง, นักแข่ง,สภาพอากาศ และสนามแข่งที่ทำการแข่งขัน
รถแข่งทั้งหมดใช้ ECU กลางซึ่งเป็นเหมือนสมองที่ควบคุม และสั่งการรถ ไม่ว่าจะเป็นกาควบคุมอัตราการจ่ายน้ำมัน, ระบบแทรคชั่น คอนโทรล, ระบบป้องกันล้อหน้ายกลอย หรือแม้แต่คุณสมบัติอื่นๆเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในการแข่งขัน และยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาอีกด้วย
รถแข่งทั้งหมดใช้ ECU กลางซึ่งเป็นเหมือนสมองที่ควบคุม และสั่งการรถ ไม่ว่าจะเป็นกาควบคุมอัตราการจ่ายน้ำมัน, ระบบแทรคชั่น คอนโทรล, ระบบป้องกันล้อหน้ายกลอย หรือแม้แต่คุณสมบัติอื่นๆเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในการแข่งขัน และยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาอีกด้วย
ในปัจจุบันการพัฒนารถ MotoGP ไม่เพียงแต่จะให้ประโยชน์ต่อการแข่งขัน แต่ค่ายผู้ผลิตต่างๆได้นำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใส่ในรถโปรดักส์ชั่นที่ขายในตลาดอย่างเช่น Honda Rc213V-s หรือ ซุปเปอร์ไบค์คลาส 1000 ซีซี อย่าง Yamaha YZF-R1 หรือ Suzuki GSX-R1000 2017 เป็นต้น ซึ่งผู้บริโภคอย่างเราก็เข้าถึงเทคโนโลยี MotoGP ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม และเทคโนโลยีพวกนี้แหละจะทำเราได้รับความปลอดภัยมากขึ้นอีกด้วย แต่.. คันเร่งไม่ได้มีไว้กดเสมอไป…ยกบ้างก็ได้
ขอให้เพื่อนๆชมการแข่งขัน MotoGP ให้สนุกมากยิ่งขึ้นนะครัช
ขอขอบคุณข้อมูลจาก motowish
5 สิ่งที่ต้องรู้ ในการดู MotoGP ให้สนุกขึ้น!!
บทความนี้จะพูดถึง 5 หัวข้อที่เป็นพื้นฐานของการแข่งขัน MotoGP เลยก็ว่าได้ จะทำให้คนที่ไม่ได้ติดตามได้รู้จักเกมส์การแข่งขันชนิดนี้มากขึ้นกว่าเก่า
1. ทีมแข่ง
MotoGP จะแบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่
1. Factory Team
ทีมโรงงาน หรือจะเรียกอีกอย่างว่าทีมผู้ผลิตก็ได้ ทีมประเภทนี้เป็นทีมที่มีทรัพยากรมหาศาล และได้รับการสนับสนุนเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี, วิศวกรรม, กำลังคน หรือเม็ดเงินลงทุน อย่างเช่น Repsol Honda, Movistar Yamaha, Ducati Team, ECSTAR Suzuki, Red Bull KTM และ Aprilia Gresini
2. Satellite Team
ทีมสนับสนุน หรือเรียกว่าทีมที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ผลิตนั่นเอง ทีมเหล่านี้มีงบประมาณไม่มาก ดังนั้นผู้ผลิตจะช่วยในการสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีของตัวรถ เครื่องยนต์ หรือชิ้นส่วนหลักต่างๆ แต่ทีมเหล่านี้หลังจากมีการเปลี่ยนกฎให้ใช้ ECU กลางตั้งแต่ปี 2016 จะเห็นได้ว่าพวกเขาสามารถก้าวขึ้นมาสู้กับทีมโรงงาน และโลดแล่นบนแถวหน้าได้มากขึ้น อย่างนักบิดสุดจี๊ด Cal Crutchlow ทีมสนับสนุนเหล่านี้ได้แก่ LCR Honda, Monster Yamaha Tech3, MarcVDS Honda, Avintia Ducati, Pramac Ducati และ Aspar Ducati
2. วัน และ ช่วงระยะเวลาของการแข่งขัน
โดยปกติแล้วการแข่งขัน MotoGP จะมีการแข่งขันช่วงสุดสัปดาห์ คือ วันศุกร์-วันอาทิตย์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ชม ให้มีเวลาว่างตามไปเชียร์นักแข่ง และทีมสุดรัก
คราวนี้มาดูกันว่า วัน และช่วงระยะเวลาของการแข่งขันเป็นอย่างไร? ในที่นี้จะขอยกตัวอย่าง เวลาในโซนยุโรปมาบอกกัน เพราะเป็นโซนที่แข่งกันบ่อยสุด แต่ทั้งนี้เวลาก็จะเปลี่ยนไปตามแต่ละประเทศที่ทำการแข่งขัน
วัน | เวลา | ช่วงเวลา | ระยะเวลา |
ศุกร์ | 09:00 – 10:00 | Free Practice 1 (FP1)
ฝึกซ้อม / จับเวลาควอลิฟาย |
45 นาที |
ศุกร์ | 13:00 – 14:00 | Free Practice 2 (FP2)
ฝึกซ้อม / จับเวลาควอลิฟาย |
45 นาที |
เสาร์ | 09:00 – 10:00 | Free Practice 3 (FP3)
ฝึกซ้อม / จับเวลาควอลิฟาย |
45 นาที |
เสาร์ | 13:45 – 14:15 | Practice 4 (FP4)
ฝึกซ้อม / ไม่จับเวลา |
30 นาที |
เสาร์ | 14:25 – 14:40 | Qualifying 1 (QP1) | 15 นาที |
เสาร์ | 14:50 – 15:05 | Qualifying 2 (QP2) | 15 นาที |
อาทิตย์ | 10:00 – 10:20 | Warm Up | 20 นาที |
อาทิตย์ | 14:00 | Race | 120 กิโลเมตร (โดยประมาณ) |
3. ดูการฝึกซ้อม, การควอลิฟาย และลุ้นลำดับการแข่งขัน
Free Practice – การฝึกซ้อม
การฝึกซ้อมทั้ง 3 รอบ (FP1-FP3) จะทำการจับเวลา และเลือกเวลาที่ดีที่สุดของนักแข่งแต่ละคนจากการฝึกซ้อมทั้ง 3 รอบ เพื่อเฟ้นหานักแข่งที่ทำเวลาดีที่สุด 10 อันดับแรกให้เข้าไปขี่ Qualifying 2 (Q2) ส่วนนักแข่งที่ได้ลำดับต่ำกว่าที่ 10 จะเข้าไปขี่ Qualifying 1 (Q1)
Qualifying – การแข่ง หาลำดับกริดสตาร์ท
เริ่มกันที่ Qualifying (Q1) ใช้เวลา 15 นาที โดยนักแข่งที่ได้ลำดับต่ำกว่าอันดับที่ 10 จากรอบการฝึกซ้อม จะลงมาแข่งขันกันเพื่อทำเวลาให้ดีที่สุดในการจัดลำดับกริดสตาร์ท หากในการควอลิฟาย Q1 ใครได้ลำดับที่ 1-2 ก็จะได้สิทธิ์ขึ้นไปควอลิฟายรวมกับ Q2 อีกครั้ง เพื่อแย่งกริดสตาร์ทกับกลุ่มนั้น ส่วนใครได้ลำดับ 3 เป็นต้นไปของ Qualifying (Q1) นี้ จะถูกเรียงตามลำดับกริดสตาร์ตตั้งแต่ 13 ไปจนลำดับสุดท้ายในวันแข่งขัน
Qualifying (Q2) ใช้เวลา 15 นาทีเช่นกัน จาก 10 นักแข่งที่ทำเวลาดีที่สุดในลำดับ 1-10 ในรอบการฝึกซ้อม รวมถึงนักแข่งลำดับ 1-2 จาก Qualifying (Q1) รวมกันแล้วก็ 12 คน จากนั้นก็ทำการควอลิฟายหาเวลาที่ดีที่สุด เพื่อเรียงลำดับกริดสตาร์ทอันดับ 1-12 ในวันแข่งขัน
ฉะนั้นการความมันส์ของการแข่ง MotoGP จะมีให้เห็นกันตั้งแต่การซ้อมวันแรกแล้ว อย่างนักแข่งตัวท็อป ถ้าใครยังเซ็ทรถยังไม่ลงตัว เวลาซ้อมไม่ดีก็อาจจะต้องไปอยู่ใน Qualifying (Q1) และถ้าไปอยู่ตรงนั้นจริงๆ ก็ต้องเร่งทำเวลาให้ได้อันดับ 1 หรือ 2 เพื่อขึ้นไป Qualifying (Q2) อีกครั้ง ไม่อย่างงั้นอาจพลาดลำดับสตาร์ทหัวแถวก็เป็นได้
และในช่วงสุดท้ายของการ Qualifying เวลาที่เหลืออยู่อีก 10 นาที นั้นคือการขับเคี่ยวเพื่อชิงอันดับอย่างสุดตัว โดยนักแข่งบางคนจะเปลี่ยนไปใช้ยางชนิด Soft เพราะให้การเกาะผิวแทรคจะดีกว่า ถ้าใครได้มีโอกาสดูจะเห็นตารางเวลาอันดับเชือดเฉือนกันแค่เศษเสี้ยววินาที่ในรอบสุดท้ายบ่อยมากๆ ก็ด้วยสาเหตุนี้นั้นเอง
การลุ้นให้มันส์ขึ้นอีก 1 วิธีคือการดูเวลาแต่ละ Sector
แล้ว Sector คืออะไร? ถ้าคิดง่ายๆคือ การแบ่งส่วน หรือช่วงของสนาม ปกติแต่ละสนามจะมีอยู่ 4 Sector หรือ 4 ช่วงนั่นเอง (i1-i2-i3-i4) หากนักแข่งบิดผ่านช่วงต่างๆ ก็จะทำให้รู้เวลาในแต่ละช่วง และถ้ายิ่งทำเวลาในแต่ละช่วงได้เร็วกว่านักแข่งคนอื่น นั่นก็หมายความว่าเวลารวมต่อรอบก็จะน้อยกว่าแน่นอน
แต่ละ Sector เวลาของนักแข่งอาจจะทำเวลาได้สูง-ต่ำแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการขับขี่ หรือความถนัดในช่วงนั้นๆ ซึ่งการแบ่ง Sector นี้เองจะทำให้นักแข่งรู้จุดบกพร่องของตัวเองได้ง่ายด้วย ว่าช้าตรงโค้งไหน เพื่อแก้ไขให้ขี่ได้เร็วขึ้น
ในการถ่ายทอดสดเขาจะถ่ายให้เห็นแต่ละ Sector ของนักแข่งที่กำลังลุ้นลำดับกันอยู่ นั่นแหละเป็นการดู และลุ้นลำดับที่มันส์สุดๆเลยทีเดียว
4. คะแนนการแข่งขัน
อันดับที่ 1 | 25 คะแนน |
อันดับที่ 2 | 20 คะแนน |
อันดับที่ 3 | 16 คะแนน |
อันดับที่ 4 | 13 คะแนน |
อันดับที่ 5 | 11 คะแนน |
อันดับที่ 6 | 10 คะแนน |
อันดับที่ 7 | 9 คะแนน |
อันดับที่ 8 | 8 คะแนน |
อันดับที่ 9 | 7 คะแนน |
อันดับที่ 10 | 6 คะแนน |
อันดับที่ 11 | 5 คะแนน |
อันดับที่ 12 | 4 คะแนน |
อันดับที่ 13 | 3 คะแนน |
อันดับที่ 14 | 2 คะแนน |
อันดับที่ 15 | 1 คะแนน |
ต่ำกว่าอันดับที่ 15 | ไม่ได้รับคะแนนในสนามนั้น |
ส่วนแชมป์ประจำฤดูกาล จะนับคะแนนสะสมรวมทุกสนามตลอดฤดูกาล (1 ฤดูกาลมี 18 สนาม) ใครได้คะแนนสะสมสูงสุดก็รับแชมป์ไปครอง บางปียังไม่ทันจบฤดูกาล ก็ได้แชมป์ไปครองละ เพราะคะแนนลอยลำจนลำดับ 2 ตามไม่ทันก็มีบ่อยไป
5. สี และประเภทยางในการแข่งขัน
สิ่งสำคัญอีกอย่างที่เป็นส่วนช่วยในการตัดสินแชมป์แต่ละสนามได้เลยนั่นคือ ประเภทของยางที่เลือกใช้ในการแข่งขัน ตั้งแต่ปี 2016 มิชลินเป็นผู้สนับสนุนหลักในเรื่องของยาง (เนื่องจากบริดจสโตนขอถอนตัวจากการเป็นสปอนเซอร์มานานจนถึงจุดอิ่มตัว และเป็นการเปลี่ยนขนาดยางจาก 16.5 นิ้ว มาเป็นขนาด 17 นิ้ว)
ดังนั้นทุกทีมหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการใช้ยางยี่ห้อนี้ แต่สิ่งที่เลือกได้นั้นคือ ประเภทของยางที่เลือกใช้ในแต่ละสนาม ฉะนั้นการเลือกใช้ยางจะถูกนักแข่ง และวิศวกรของทีม คำนวณและเลือกใช้เป็นอย่างดี เพราะการเลือกยางที่ถูกต้องในแต่ละสนาม และสภาพอากาศนั้นๆอาจหมายถึงการคว้าแชมป์ก็เป็นได้ ซึ่งมีให้เห็นมานักต่อนักแล้ว
Michelin Power Slick
ยางแบบ Hard หรือเนื้อยางแบบแข็ง ด้านข้างขอบยางจะเป็น สีเหลือง
ยางแบบ Medium หรือเนื้อยางแบบแข็งปานกลาง ด้านข้างขอบยางจะเป็น สีเทา
ยางแบบ Soft หรือเนื้อยางแบบนิ่ม ด้านข้างขอบยางจะเป็น สีขาว
Michelin Power Rain
ยางแบบ Hard หรือเนื้อยางแบบแข็ง ด้านข้างขอบยางจะเป็น สีเทา
ยางแบบ Soft หรือเนื้อยางแบบนิ่ม ด้านข้างขอบยางจะเป็น สีฟ้า
ยางทั้งสองแบบนี้ดอกยางจะมีระยะถี่มากเพื่อช่วยในการรีดน้ำ
ในปี 2017 ผู้จัดได้ยกเลิกยางแบบ Intermediate และตัวยางนั้นได้เพิ่มเซ็นเซอร์ตัววัดลมยางเพิ่มขึ้นมา
ส่วนการใช้ยางสำหรับการแข่งแต่ละสนาม รวม Free Practice / Qualifying / Race
ยางสลิค : 22 เส้น แบ่งเป็น หน้า 10 / หลัง 12
ยางฝน : 11 เส้น แบ่งเป็น หน้า5 / หลัง6
เท่านั้นยังไม่พอ!! ยางที่ใช้ซ้อม และแข่งทุกเส้น เมื่อใช้แล้วต้องส่งยางคืนมิชลินทั้งหมด เพื่อป้องกันการนำไปใช้นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ด้วยนะ
เป็นไงล่ะครับเพื่อนๆอ่านหมดนี่แล้ว เริ่มเข้าใจ และอยากดู MotoGP ขึ้นมาแล้วใช่ไหม กีฬาทุกชนิดถ้าเราดูเป็น และเข้าใจอย่างลึกซึ้งมันจะทำให้เราดู และลุ้นได้สนุกมากยิ่งขึ้น ขอให้เพื่อนๆชาว MotoWish ดู MotoGP กันอย่างสนุกสนาน สำราญใจนะคร๊าบบบบ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก motowish
MotoGP คืออะไรและสำคัญขนาดไหน
MotoGP คือการแข่งขันที่มีคนติดตามอย่างแพร่หลาย เพราะฉะนั้นรถมอเตอร์ไซค์ที่ใช้จะมีความเฉพาะอย่างมาก จะไม่ลงมาจำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งทำให้การแงขันดุเดือดมากขึ้น เนื่องจาก แต่ละค่ายจะงัดไม้เด็ดของตนเองออกมาใช้ ในการแข่งขันจะมีนักแข่งหลากหลายประเทศ หลายแบรนด์เข้าร่วม
WSBK คืออีกหนึ่งรายการที่ระดับโลกเหมือนกันแต่ต่างกันตรงที่ รายการนี้จะใช้เครื่องยนต์ตามท้องตลาดทั่วไป เป็นรถที่ขายทั่วไปนั้นเองและสามารถปรับแต่งได้ตามต้องการ
ที่มาของ “MotoGP”
1998-2001 ช่วงนี้ยังใช้แค่คำว่า GP อยู่ และรถที่แข่งในรายการก็ยังเป็น 2จังหวะ ซึ่งจะมีตั้งแต่ 125cc 250cc 500cc แต่ในขณะเดียวกัน WSBK ได้มีการแข่งด้วยเครื่อง 4จังหวะมาก่อนแล้ว
ปี 2002 ทางผู้จัดเริ่มอนุญาตให้ใช้เครื่อง 4จังหวะ เพราะช่วงนั้นเครื่อง 2จังหวะเริ่มมาถึงทางตันและไม่เป็นที่นิยมแล้วนั้นเอง ขนาดของเครื่องที่นำมาแทนคือ 990cc ซึ่งมาแทนกับ 500cc 2จังหวะ
จุดเปลี่ยนของชื่อรายการ คือ ปี 2003 ผู้จัดบังคับให้เปลี่ยนจากเครื่อง 2จังหวะเป็น 4จังหวะ และเปลี่ยนชื่อจาก GP เป็น “MotoGP” อย่างเต็มรูปแบบ
ที่มาของ “MotoGP”
1998-2001 ช่วงนี้ยังใช้แค่คำว่า GP อยู่ และรถที่แข่งในรายการก็ยังเป็น 2จังหวะ ซึ่งจะมีตั้งแต่ 125cc 250cc 500cc แต่ในขณะเดียวกัน WSBK ได้มีการแข่งด้วยเครื่อง 4จังหวะมาก่อนแล้ว
ปี 2002 ทางผู้จัดเริ่มอนุญาตให้ใช้เครื่อง 4จังหวะ เพราะช่วงนั้นเครื่อง 2จังหวะเริ่มมาถึงทางตันและไม่เป็นที่นิยมแล้วนั้นเอง ขนาดของเครื่องที่นำมาแทนคือ 990cc ซึ่งมาแทนกับ 500cc 2จังหวะ
จุดเปลี่ยนของชื่อรายการ คือ ปี 2003 ผู้จัดบังคับให้เปลี่ยนจากเครื่อง 2จังหวะเป็น 4จังหวะ และเปลี่ยนชื่อจาก GP เป็น “MotoGP” อย่างเต็มรูปแบบ
สำหรับการแข่งขับจะมีทั้งหมด 3 รุ่น
Moto2 ใช้เครื่องยนต์ 4จังหวะ ขนาด 600cc 4สูบเรียง(Inline) ในรุ่นนี้ทุกค่ายต้องใช้เครื่องยนต์ของ Honda ซึ่งแรงม้าไม่ต่ำกว่า 140 แรงม้า ทุกทีมจะต้องปรับแต่งตามของตนเองแต่ต้องอยู่ในกติกา
Moto3 ต้องใช้เครื่องยนต์ 4จังหวะเหมือนกัน แต่ขนาดจะลดลงเป็น 250cc 1สูบ แรงม้ามากกว่า 55 แรงม้า รายการนี้เป็นรายการสำหรับนักแข่งเริ่มต้นโดยนักแข่งต้องอายุไม่เกิน 28 และสำหรับผู้ที่เข้ามาแข่งครั้งแรกอายุต้องไม่เกิน 25 ปี
MotoGPรุ่นสุดโหดที่มีนักแข่งระดับโลกมากมายอยู่ในรุ่นนี้ เครื่องยนต์ 4จังหวะ 1,000cc 4สูบ แต่จะมีความแตกต่างตรงที่ จะเป็น4สูบแบบเรียง(Inline) หรือสูบ V ก็ได้ แรงม้าไม่ต่ำกว่า 240 แรงม้า ถือเป็นรุ่นที่ทุกคนอยากชมอย่างมากเป็นรุ่นใหญ่มาด้วยประสบการณ์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก realmotosports
ความแตกต่างระหว่างรถแข่ง Moto3, Moto2 และ MotoGP
ถ้าพูดถึงที่สุดของมอเตอร์สปอร์ตแห่งวงการสองล้อแล้ว ก็คงหนีไม่พ้นรายการแข่งขันระดับโลกอย่าง MotoGP เพราะถือเป็นรายการที่ได้รวบรวมเอานักแข่งระดับหัวแถวของโลกไว้อย่างมากมาย นอกจากนั้นยังมีทีมแข่งชั้นนำหลายสิบทีม ต่างก็เข้าร่วมการแข่งขันเพื่อแสดงศักยภาพทางเทคโนโลยีของรถแข่งในสังกัด เรียกได้ว่าการแข่งขัน MotoGP คือที่สุดของการแข่งขันมอเตอร์ไซด์ระดับมืออาชีพอย่างแท้จริง
สำหรับรถแข่งที่ร่วมชิงชัยในรายการ MotoGP นั้น หลักๆ แล้วจะมีด้วยกันทั้งหมด 3 รุ่น ซึ่งได้แก่ Moto3, Moto2 และ MotoGP ซึ่งเป็นรุ่นใหญ่สุดและแรงที่สุด โดยรถแข่งทั้งสามรุ่นนี้ ใช้เครื่องยนต์ 4-จังหวะ DOHC เช่นเดียวกัน แต่จะมีรายละเอียดปลีกย่อย รวมไปถึงกฎกติกาที่แตกต่างกัน
Moto3
เป็นรถแข่งที่มีความแรงน้อยที่สุดในบรรดาทั้ง 3 รุ่น ใช้เครื่องยนต์ 4 จังหวะ กระบอกสูบเดี่ยว ความจุ 250 ซีซี สร้างแรงม้าได้ประมาน 55 แรงม้า และมีการจำกัดรอบเครื่องยนต์ไว้ที่ 14,000 RPM เชื้อเพลิงที่กำหนดให้ใช้คือน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว ออคเทน 98 (Unleaded 98 Octane) น้ำหนักของตัวรถและนักแข่งจะต้องไม่ต่ำกว่า 148 กิโลกรัม นอกจากนั้นแล้ว สำหรับรุ่น Moto3 ยังมีการจำกัดอายุนักแข่งอีกด้วย โดยนักบิดที่สามารถลงแข่งในรุ่นนี้ได้ต้องมีอายุไม่เกิน 28 ปี
Moto2
Moto2 หรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่ารุ่น 600 ซีซี นั่นก็เพราะว่ารถแข่ง Moto2 ใช้เครื่องยนต์ 4 จังหวะ 4 กระบอกสูบ ที่มีความจุ 600 ซีซี เครื่องยนต์ของรถแข่งทุกคันในรุ่นนี้ ถูกพัฒนาโดย HONDA และถูกจำกัดรอบเครื่องยนต์ไว้ที่ 18,000 RPM สร้างแรงม้าได้ 140 แรงม้าโดยประมาณ และสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 280 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จานเบรกแบบคาร์บอนถูกสั่งห้ามใช้ในรถแข่ง Moto2 โดยสามารถใช้ได้เพียงแค่จานเบรกแบบเหล็กเท่านั้น และสำหรับในปีหน้า 2019 เครื่องยนต์ของรถแข่ง Moto2 จะถูกเปลี่ยนเป็นของ TRIUMPH ซึ่งมีเป็นเครื่องยนต์ 3 กระบอกสูบ ความจุ 765 ซีซี
MotoGP
MotoGP คือรถแข่งที่แรงที่สุด เร็วที่สุด เครื่องยนต์ 4 กระบอกสูบ 1,000 ซีซี สร้างแรงม้าได้สูงถึง 260 แรงม้า รอบเครื่องยนต์ถูกจำกัดไว้ที่ 18,000 RPM สามารถทำความเร็วได้สูงถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง น้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้มีค่าออคเทนสูงถึง 100 ออคเทน
สำหรับรถแข่งในรุ่น MotoGP สามารถเลือกเครื่องยนต์ได้อย่างอิสระ โดยเครื่องยนต์ที่เลือกใช้นั้น จะต้องป็นเครื่องยนต์สูบเรียง (Inline-4) หรือเครื่องยนต์สูบวี (V4) ซึ่งเครื่องยนต์ทั้งสองแบบนี้ มีข้อได้เปรียบและเสียเปรียบที่แตกต่างกัน โดยทีมแข่งจะต้องเลือกใช้เครื่องยนต์ให้เหมาะสมกับตัวถังของรถมอเตอร์ไซด์ รวมไปถึงความชำนาญของนักแข่งก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการเลือกเครื่องยนต์ด้วยเช่นกัน
และในปี 2018 นี้ ประเทศไทยได้มีโอกาสจัดการแข่งขันระดับโลก MotoGP ภายใต้ชื่อรายการ PTT Thailand Grand Prix 2018 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 5-7 ตุลาคม 2561 ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ ครั้งแรกของเมืองไทย ที่จะได้สัมผัสบรรยากาศการแข่งขันระดับโลก จากนักแข่ง และทีมแข่ง MotoGP ที่เหล่าแฟนๆสาวก Biker ตัวจริงไม่ควรพลาด ซื้อบัตรได้แล้ววันนี้ ผ่าน 2 ช่องทาง คือ เคาร์เตอร์เซอร์วิส 7-11 ทุกสาขา และ ช่องทางออนไลน์ www.allticket.com
รายละเอียดการซื้อบัตร คลิก https://goo.gl/kkYzbx
ขอขอบคุณข้อมูลจาก auto.mthai
โช้คอัพ YSS ดีจริงหรือไม่
YSS จัดเป็นอีกหนึ่งแบรนด์โช๊คอัพคุณภาพระดับโลก ซึ่งนับว่าเป็นสินค้าของคนไทยแท้ๆ ที่ได้การยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะในวงการมอเตอร์สปอร์ตที่โช๊คอัพแบรนด์นี้ ถือว่าสร้างชื่อเสียงและกวาดโพเดี้ยมมาแล้วมากมาย ทั้งในวงการสองล้อและสี่ล้อ แต่เชื่อได้เลยว่า…ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสมรรถนะที่แท้จริงของโช๊คอัพคุณภาพระดับโลกอย่าง YSS ได้ ในโอกาสนี้ เราพร้อมที่จะมาไขข้อข้องใจให้ขาซิ่งตัวจริง ได้รู้ถึงประสิทธิภาพอันโดดเด่นของโช๊คอัพ YSS ในตระกูล Racing Product Group กันแล้วครับ
Service Center ของทาง YSS กับบระบบการนัดคิวที่มีความเป็นมาตรฐาน
สำหรับการรีวิวโช๊คอัพ YSS ตระกูล Racing Product Group ในครั้งนี้ เราขอยกตัวอย่างสองล้อที่กำลังมาแรงในแวดวงบิ๊กไบค์อย่าง Yamaha FZ/MT-09 เนคเก็ตไบค์ขุมพลัง 3 สูบ ที่ได้การยอมรับว่ามีความเร้าใจ ก้าวร้าว เถื่อนดิบในแบบฉบับ “ด้านมืดแห่งแดนอาทิตย์อุทัย” ซึ่งผู้ใช้หลายๆ คนต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า โช๊คอัพเดิมๆ ที่ติดรถมานั้น ไม่สามารถสยบอาการดีดดิ้นของรถได้อย่างอยู่หมัด งานนี้เลยต้องยกหน้าที่ให้กับทีมงานจาก YSS เป็นผู้ลงมือปราบความก้าวร้าวของสองล้อผู้นี้ให้เป็นสองล้อที่เชื่องมือยิ่งขึ้น
Service Center ของทาง YSS กับบระบบการนัดคิวที่มีความเป็นมาตรฐาน
โช๊คอัพ YSS มาในแพคเกจที่แน่นหนา ดูมีราคาทีเดียว
สิ่งหนึ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับระบบช่วงล่างนั้น นอกจากจะเลือกใช้โช๊คอัพที่ให้สมรรถนะในระดับสูงแล้ว หัวใจหลักที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คงหนีไม่พ้นเรื่องของการเซ็ตอัพค่าต่างๆ ให้มีความเหมาะสม ทั้งกับตัวผู้ขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าน้ำหนัก รูปแบบการใช้งาน หรือแม้แต่สไตล์การขับขี่ ซึ่งส่งผลให้การเซ็ตโช๊คอัพมีความแตกต่างกันออกไปครับ ทันทีที่ BoxzaRacing นำรถเข้าสู่ Service Center ของทาง YSS เจ้าหน้าที่ก็ทำการวัดระยะ Sag และสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับตัวผู้ขับขี่ เพื่อนำค่าที่ได้ไปปรับเซ็ตค่า Preload ในเบื้องต้น โดยทีมงานจะเซ็ตค่าจากการคำนวณด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่ความทันสมัยและมีความแม่นยำสูงสุด ก่อนที่จะนำโช๊คอัพเข้ามาติดตั้งกับตัวรถอย่างใส่ใจในทุกรายละเอียด โดยหลังจากติดตั้งเป็นที่เรียบร้อย ก็จะทำการเซ็ตค่าโช๊คอัพทั้งในส่วนของ Rebound และ Compression ทั้งในแบบ Low และ Hi Speed ที่ถือว่าเป็นฟังค์ชั่นอันเลื่องชื่อของโช๊คอัพแบรนด์ YSS ตระกูล Racing Product ส่วนในขั้นตอนสุดท้าย คือ การให้ผู้ขับขี่ได้ลองสัมผัสฟีลลิ่ง ก่อนที่จะมาปรับค่ากันอย่างละเอียดอีกครั้ง
สิ่งที่เหนือกว่าคุณภาพของตัวโช๊ค คงหนีไม่พ้นเรื่องบริการ ทั้งก่อนและหลังการขาย
การติดตั้ง ทำอย่างประณีต และใส่ใจรายละเอียดในทุกขั้นตอน
โช๊คเดิมติดรถ อาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการ ซึ่งมีผลอย่างยิ่งกับเรื่องความปลอดภัย
สัมผัสแรกที่ได้นำสองล้ออย่าง Yamaha FZ/MT-09 โลดแล่นบนถนน แว๊บแรกที่คิดได้ ณ เวลานั้น คือ มันช่างต่างจากเดิมราวฟ้ากับเหว โดยฟีลลิ่งของโช๊คเดิมนั้นจะออกแนวนุ่มนวล เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการออกแบบรถรุ่นนี้ จะเน้นการใช้งานไปในแนวเนคเก็ตกึ่งโมตาร์ด ซึ่งเมื่อต้องเจอกับพละกำลังและแรงบิดมหาศาลของรถรุ่นนี้ ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกหากลองเล่นหนักๆ ขี่แบบโหดๆ แล้วรู้สึกว่าขาดความมั่นใจเพราะอาการยวบยาบไปบ้าง แต่หลังจากที่เปลี่ยนโช๊คอัพจาก YSS ความรู้สึกนั้นก็หายไป โดยฟีลลิ่งของตัวโช๊คจะมาในแนวเฟิร์มๆ หนึบๆ ซึ่งสร้างความมั่นใจในทุกรูปแบบการขับขี่ได้อย่างเต็มเปี่ยม ไม่ว่าจะเป็นในย่านความเร็วปกติ หรือแม้แต่ต้องการสัมผัสความเร้าใจในช่วงความเร็วที่สูงยิ่งๆ ขึ้นไป อีกทั้งยังรู้สึกว่าการส่งถ่ายกำลังลงสู่พื้นถนน สามารถทำได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้นอีกด้วย
โช๊คอัพ YSS ในตระกูล Racing Product มาพร้อมฟังค์ชั่นการปรับแบบ Full Function
ซับแทงค์ที่สามารถปรับ Compresion แบบ Hi-Low Speed อันเป็นจุดขายของ YSS
โช๊คอัพ YSS มีดีมากกว่าคำว่าหนึบจริงๆ ครับ
หลังจากที่เปลี่ยนโช๊คมาไม่กี่วัน ผมถือโอกาสนำรถคันนี้ไปลองสมรรถนะที่แท้จริง ด้วยการใช้งานทั่วๆ ไป รวมถึงออกทริปต่างจังหวัดในระยะทางกว่า 1,000 กม. โดยเลือกเส้นทางที่มีภูมิประเทศหลากหลาย เพื่อให้ได้สัมผัสฟีลลิ่งจากการใช้งานทุกรูปแบบ เริ่มกันตั้งแต่ทางตรงยาวๆ ที่ชาวไบค์เกอร์นิยมหวดกันแบบหมดปลอด ซึ่งจากเดิมนั้นตัวรถจะเริ่มมีอาการเมื่อเข้าสู่ในย่านความเร็วสูงๆ ขึ้นไป แต่หลังจากที่เปลี่ยนโช๊คอัพ YSSมาแล้ว อาการของตัวรถก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยความรู้สึกที่สัมผัสได้ คือ นิ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และสามารถจัดการกับอุปสรรคต่างๆ บนท้องถนนได้อย่างอยู่หมัด ไม่ว่าจะเป็นรอยต่อถนนที่ไม่เรียบ หรือแม้แต่ศัตรูตัวร้ายอย่างคอสะพานชันๆ ที่ปกติทุกครั้งที่รุดผ่านมักจะมีอาการตูดลอย เนื่องจากโช๊คเดิมไม่สามารถจัดการเรื่องการรีบาวน์ได้ละเอียดเท่า ซึ่งโช๊คอัพที่เปลี่ยนเข้าไปใหม่นี้ ช่วยให้ชีวิตง่าย ช่วยเพิ่มความมมั่นใจ และเสริมความปลอดภัยในยามขับขี่ได้แบบเต็มสตีมทีเดียว
ไม่ว่าเจอโค้งในรูปแบบไหน YSS ก็จัดการได้อย่างอยู่หมัด
หลังจากที่ลองใช้งานมาสักระยะหนึ่ง ผมสามารถถ่ายทอดความรู้สึกให้ชาว BoxzaRacing ได้รับรู้อย่างเต็มปากเลยว่า โช๊คอัพจาก YSS เป็นผลิตภัณฑ์ที่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพภายใต้ความคุ้มค่าอย่างแท้จริง ซึ่งค่าตัวที่จ่ายไปแบบสมเหตุสมผล แลกมาด้วยสมรรถนะที่โดดเด่นและความปลอดภัยที่เป็นเลิศถือเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การมีไว้ครอบครองอย่างปฏิเสธไม่ได้เลยจริงๆ ยิ่งเมื่อได้รับบริการที่เอาใจใส่ รวมถึงชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ ที่มีไว้ให้เลือกกันตามความต้องการแล้วล่ะก็ คงเป็นการยากที่จะหาโช๊คอัพแบรนด์ไหนที่ให้คุณได้มากขนาดนี้ครับ
โช๊คอัพ YSS ในตระกูล Racing Product
ขอขอบคุณข้อมูลจาก car.boxzaracing