หญิงสาวขับรถเวสป้าใช้เวลานาน 2 ปี เดินทางจากสิงคโปร์ไปยุโรป ระยะทางกว่า 44,000 กิโลเมตร
สกู๊ตเตอร์คันนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ของขวัญวันเกิดสำหรับหญิงสาวเท่านั้น แต่มันยังเป็นเพื่อนคู่ใจที่พาเธอออกไปพิชิตระยะทางหลายหมื่นกิโลในครั้งนี้อีกด้วย
จุดเริ่มต้นของการเดินทางไกลครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจาก ความเสียใจที่ต้องสูญเสียเพื่อนรักผู้ชื่นชอบการเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ไปอย่างกะทันทัน นั่นจึงทำให้เธอตัดสินใจที่จะเก็บข้าวของและออกเดินทางในวันที่ 16 พ.ค. 2015
ไบเกอร์สาวเริ่มออกเดินทางจากบ้านเกิดของเธอผ่านประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งหน้าเข้าสู่เอเชียใต้ ดินแดนในคาบสมุทรบอลข่าน ก่อนจะไปสิ้นสุดที่ยุโรปกลาง
สัมภาระทุกหนักกว่า 50 กิโลกรัมถูกจัดเอาไว้บน Ebony Rouge รถคู่ใจของเธอ
Juvena ใช้เวลาเดินทางนานกว่า 2 ปี ผ่านระยะทางรวม 44,000 กิโลเมตร และถึงจุดหมายปลายทางที่สาธารณรัฐเช็ก โดยใช้งบประมาณในการเดินทางทั้งสิ้น 23,000 ดอลลาร์ สิงคโปร์ (ประมาณ 550,000 บาท)
ซึ่งน้อยกว่างบประมาณที่เธอคาดการณ์ไว้ตอนแรกที่ 30,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 700,000 บาท)
การเดินทางไกลแบบนี้เป็นเรื่องท้าทายอย่างมากสำหรับไบเกอร์ทุกคน รวมทั้ง Juvena ด้วย
เธอให้สัมภาษณ์กับ mothership ว่า บางครั้งความกังวลเกี่ยวกับการเดินทาง ก็รบกวนจิตใจของเธอ และทำให้รู้สึกว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งกับสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านั้น
“บางครั้งฉันรู้สึกเหมือนถูกตัดขาดจากผู้คนหรือสถานที่ที่ฉันไป เพราะต้องกังวลว่าคืนนี้จะนอนที่ไหน และพรุ่งนี้ฉันจะเดินทางไปที่ไหนต่อ”
ทริปทางไกลครั้งนี้ Juvena สารภาพตามตรงกับทาง mothership ว่าเธอเองไม่ได้ค่อยได้วางแผนสำหรับการเดินทางสักเท่าไหร่ ซึ่งนั่นถือเป็นประสบการณ์ที่เธอได้เรียนรู้จากการเดินทางในครั้งนี้
“ตลอด 2 ปีที่เดินทาง ฉันใช้ชีวิตบนถนนแบบวันต่อวัน ฉันรู้สึกเหมือนกับปล่อยให้ชีวิตเป็นไปตามที่มันจะเป็น ฉันไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าวันนี้จะต้องขับไปถึงไหน บางครั้งเมื่อถึงตอนกลางคืน ฉันก็แค่จอดรถแล้วหาที่นอนแค่นั้น
แต่หลังจากทริปนี้ ฉันได้เรียนรู้ที่จะกำหนดชีวิตของตัวเองอีกครั้ง เพราะบางครั้งมันอาจจะไม่มีถนนที่ยาวพอจะให้คุณขับรถไปได้ตลอด และชีวิตจริงก็เป็นแบบนั้นเช่นกัน”
ไบเกอร์สาวเล่าว่าเธอติดต่อกลับที่บ้านครั้งแรกเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย และเมื่อถึงอินเดีย เธอก็ซื้อเครื่อง GPS เพื่อส่งตำแหน่งของเธอให้กับที่บ้าน
นอกจากนี้เธอยัง Skype กับที่บ้านบ่อยๆ เพื่อให้พวกเขารู้ว่าตอนนี้เธออยู่ที่ไหนอีกด้วย
การเดินทางไกลอาจจะเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับ Juvena แต่มันอาจไม่ใช่สำหรับครอบครัวของเธอ และถึงแม้ว่าเธอจะพยายามติดต่อหาพวกเขาบ่อยๆ เพื่อให้รู้ว่าเธอปลอดภัยดี แต่ก็ไม่เพียงพอ
และด้วยความกังวลใจของผู้เป็นแม่ จึงทำให้เธอตัดสินใจยุติการเดินทางครั้งนี้
“เมื่อเดินทางถึงเซอร์เบีย ฉันเตรียมวางแผนที่จะบินกลับ แต่ระหว่างที่อยู่ที่นั้นฉันได้รับข้อความจากพี่สาว บอกว่าแม่ร้องไห้ถึงฉันทุกวัน และบอกว่าฉันควรกลับได้แล้ว
แน่นอนว่าฉันอยากจะเดินทางให้นานเท่าที่ฉันพอใจ แต่มันเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นฉันจึงวางแผนที่จะเดินทางกลับเมื่อไปถึงสาธารณรัฐเช็ก”
เมื่อเดินทางกลับถึงบ้านเกิด ไบเกอร์สาวแพร่เรื่องราวการเดินทางของเธอผ่านทางแฟนเพจ The Wandering Wasp และทางช่องยูทูบ The Wandering Wasp
และดูเหมือนว่าตอนนี้ เธอกำลังวางแผนสำหรับการเดินทางครั้งใหม่ เพื่อพิชิตทวีปอเมริกาใต้และแอฟริกาอยู่
ซึ่งใครที่สนใจเรื่องราวของเธอก็สามารถเข้าไปติดตามกันได้เลย…
ที่มา mothership
The Wandering Wasp in a NutshellSingapore to Europe on a Scooter in 1 minute.One womanOne scooter27 months25 countries44,000kmHumanity rediscovered.#motorcycletravel #scooteradventure #wanderlust #adventuremotorcycling #driftinnovation #shotwithdrift
โพสต์โดย The Wandering Wasp เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม 2018
ร่วมค้นหาคำตอบ Honda BigBike ทำไมต้องเริ่มที่ 500 cc
สำหรับผู้ที่อยากเป็นเจ้าของรถมอเตอร์ไซค์ ที่มีขุมพลังอันมีประสิทธิภาพสักคันหนึ่ง รถมอเตอร์ไซค์ BigBike ย่อมเป็นคำตอบหนึ่งเดียวในใจอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ยังคงมีอีกคำถาม ที่หลายคนยังคงเคลือบแคลงใจไม่น้อย นั่นคือการที่รถมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งจะถูกเรียกว่าเป็นรถ BigBike ได้ รถคันนั้นจะต้องมีพิกัดเครื่องยนต์ที่ 500 cc ขึ้นไป มีเหตุผลอะไรรองรับบ้าง และยังต้องประกอบไปด้วยข้อแตกต่างอื่น ๆ อีกหรือไม่ ถ้าคุณสงสัยเหมือนกับเรา ก็มาติดตามกันให้หายข้องใจได้เลยครับ
อย่างที่เรารู้กันดี คำว่า BigBike นั้นเป็นชื่อที่มีความหมายตรงตัว เพราะว่าเป็นการรวมของสองคำ นั่นคือ Big ที่แปลว่าใหญ่โต และ Bike ที่มาจากคำเรียกในภาษาอังกฤษที่แปลว่า รถมอเตอร์ไซค์ บวกกันกลายเป็น “รถมอเตอร์ไซค์คันใหญ่” นั่นเอง แต่แน่นอนอย่างยิ่งว่า รถ BigBike นั้นไม่ใช่แค่รถมอเตอร์ไซค์ธรรมดาที่ถูกขยายขนาดให้ใหญ่ หรือมีรูปร่างที่แปลกตาขึ้น แต่ขนาดที่ใหญ่นั้น พละกำลังของตัวรถเองก็ต้องมีมากขึ้นไปด้วย เนื่องจากถ้ายังใช้เครื่องยนต์ที่มีขนาดเล็กจนเกินไป คงไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนเจ้ายักษ์ใหญ่เหล่านี้ได้สะดวกสบายนัก
ซึ่งฮอนด้า ก็ได้ให้คำจำกัดความของเครื่องยนต์ ที่มีพิกัดพอที่จะขับเคลื่อนรถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ และทำให้เราสามารถเรียกรถมอเตอร์ไซค์คันนั้นว่า BigBike ได้อย่างสมศักดิ์ศรี นั่นก็คือต้องมีเครื่องยนต์ระดับ 500 cc ขึ้นไปครับ ซึ่งเป็นพิกัดเครื่องยนต์ที่มีขนาดใหญ่ มีสมรรถนะที่สูง และเพียงพอที่จะตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้ใช้งานรถมอเตอร์ไซค์คันยักษ์ได้เป็นอย่างดี
และนอกเหนือจากขนาดของเครื่องยนต์ที่ใหญ่แล้ว สิ่งที่จะทำให้รถคันนั้นเป็น BigBike ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ยังรวมถึงการปรับแต่งอื่น ๆ ที่ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดี มากมายทั่วทั้งคัน ซึ่งเราจะขอยกตัวอย่างมาให้ชมกันครับ
1. ระบบเบรกที่ต้องมีความปลอดภัยและแม่นยำสูง เนื่องจาก BigBike เป็นรถมอเตอร์ไซค์ที่มีประสิทธิภาพสูง การมีระบบเบรกที่ยอดเยี่ยมทำให้ทุกการขับขี่เป็นไปด้วยความปลอดภัยที่มากขึ้นครับ
2. ยางที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ เพื่อรองรับกำลังเครื่องยนต์ที่สูงเช่นเดียวกัน ทำให้การขับขี่มีความต่อเนื่องยิ่งขึ้น และนอกเหนือจากเรื่องสมรรถนะแล้ว ยังทำให้รถดูภูมิฐาน ใหญ่สมตัวอีกด้วย
3. ระบบกุญแจชิพ หรือ H.I.S.S (Honda Ignition Security System) เอกสิทธิ์เฉพาะรถ BigBike จากฮอนด้า ที่ปลอมแปลงได้ยากและสร้างความปลอดภัยให้ผู้ใช้มากกว่าใคร
โดยทุก ๆ ชิ้นส่วนนั้นยังคอยส่งเสริมให้รถคันนี้มีประสิทธิภาพที่โดดเด่นชัดเจนไม่แพ้ตัวเครื่องยนต์ และสร้างความรู้สึกพิเศษที่เหนือระดับให้กับผู้ขับขี่ในทุกครั้งที่ได้ใช้งาน ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมา ล้วนเป็นสิ่งที่ฮอนด้า ได้เติมเต็มความหมายของคำว่า BigBike ให้พิเศษมากยิ่งขึ้นครับ
ท้ายที่สุดแล้วนั้น รถมอเตอร์ไซค์ BigBike ไม่ใช่แค่รถมอเตอร์ไซค์ที่มีเครื่องยนต์ที่ใหญ่ หรือมีหน้าตาที่ดูน่าเกรงขามเพียงอย่างเดียว แต่เต็มไปด้วยองค์ประกอบที่มากมาย และมอบประสบการณ์ที่สุดจะบรรยายให้ผู้ขับขี่โดยแท้จริง ซึ่งไม่มีอะไรจะยืนยันกับเราได้นอกจากการสัมผัสด้วยตัวเอง โดยที่ศูนย์ Honda BigWing ก็คัดเอารถ BigBike คุณภาพเยี่ยม และมีพิกัดเครื่องยนต์ที่ 500 cc หรือมากกว่า ให้เลือกมากมายหลากหลายรุ่น ให้คุณได้สัมผัสถึงความยิ่งใหญ่ และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะมาให้คุณเป็นเจ้าของ “รถมอเตอร์ไซค์คันใหญ่” พวกนี้ครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก aphonda
รู้จักกับ Honda DCT เทคโนโลยีสุดล้ำจาก Honda BigBike
สำหรับรถมอเตอร์ไซค์ BigBike นั้น ในทุก ๆ การขับขี่ของเราจะต้องมีการเปลี่ยนเกียร์ ซึ่งบางจังหวะอาจทำให้อัตราการเร่งของตัวรถนั้นเกิดอาการสะดุดบ้าง จึงเป็นโจทย์ที่ทำให้วิศวกรของฮอนด้าคิดค้นวิธีแก้ไขปัญหาเหล่านี้ขึ้นมา ซึ่งคำตอบที่ได้นั้นก็คือระบบ Honda DCT (Dual Clutch Transmission) หรือในชื่อไทยแบบเท่ ๆ ว่า “ระบบส่งกำลังแบบคลัตช์คู่อัตโนมัติ” โดยมาจากแนวคิดที่ว่า “อยากให้ทุกการขับขี่ เต็มไปด้วยความสนุกยิ่งขึ้น” ซึ่งเป็นนวัตกรรมสุดล้ำที่ฮอนด้ายกมาใส่ในรถมอเตอร์ไซค์เป็นครั้งแรก ว่าแล้วเราไปสัมผัสเทคโนโลยีนี้กันให้มากขึ้นกันดีกว่าครับ
Honda DCT นั้น เป็นเทคโนโลยีเอกสิทธิ์เฉพาะของรถ Honda BigBike โดยหัวใจหลักของ Honda DCT คือระบบส่งกำลังแบบคลัตช์คู่ ที่ทำให้ผู้ขับขี่ได้สัมผัสถึงความเร่งแบบแรงต่อเนื่อง ไม่เหมือนการเปลี่ยนเกียร์แบบปกติ ส่งผลให้การขับขี่นั้นง่ายขึ้นกว่าเดิม เปรียบได้ว่าเหมือนกำลังขับขี่มอเตอร์ไซค์แบบออโตเมติกอยู่ แต่เรื่องของความแรง และความเร้าใจนั้นไม่ได้ลดลงไปจากเดิม ที่สำคัญยังทำให้หมดปัญหาอาการเครื่องกระตุกดับ ที่ทำให้ต้องสตาร์ทใหม่อีกด้วยครับ
ความสะดวกสบายของเทคโนโลยี Honda DCT ทำให้เราสามารถเลือกโหมดการขับขี่ได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่ปลายนิ้วกดปุ่มเท่านั้น โดยปุ่ม Dสำหรับการขับขี่ในแบบปกติประจำวัน หรือจะสลับกับปุ่ม S เมื่อต้องการความเร้าใจในการขับขี่สไตล์สปอร์ต และถ้าไม่อยากปรับโหมดที่มีมาให้เลือก เราก็สามารถควบคุมได้อย่างอิสระ เพียงแค่ปรับเกียร์ต่ำ-สูง ด้วยปุ่มที่ติดตั้งอยู่บนแฮนเดิลบาร์นั่นเองครับ
แต่ในส่วนของการแข่งขัน MotoGP เทคโนโลยี Honda DCT นั้น ทาง FIA (สหพันธ์รถยนต์ระหว่างประเทศ) มองเห็นว่ามันสะดวกสบาย และช่วยเหลือผู้ขับขี่มากเกินไป อีกทั้งยังทำให้การควบคุมรถถูกย้ายไปอยู่กับกล่องควบคุมแทบทั้งสิ้น จึงได้ออกมาแบนการใช้งานในการแข่งขัน ดังนั้นเราจึงไม่ได้เห็นระบบนี้ในรถมอเตอร์ไซค์แข่งของ MotoGP
สำหรับรุ่นของรถ Honda BigBike ที่มีเทคโนโลยี Honda DCT ในปัจจุบันนั้น ประกอบด้วย Goldwing, VRF1200X, Africa Twin, NM4, NC750X, X-ADV และ CTX700N ซึ่งในแต่ละรุ่นนั้นมีจุดประสงค์ในการออกแบบเพื่อการใช้งานที่แตกต่างกัน ดังนั้นเทคโนโลยี Honda DCT ที่ติดตั้งอยู่ก็จะช่วยส่งเสริมสไตล์การขับขี่ในแต่ละแบบ ให้ไหลลื่น ต่อเนื่องได้ดั่งใจ
สรุปได้เลยว่า Honda DCT นั้น มีใจความสำคัญของการออกแบบอยู่ที่ “ความสุขในการขับขี่” ของผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการดื่มด่ำเส้นทางระหว่างทริปได้อย่างเต็มที่กับ Goldwing หรือจะบิดตะลุยทุกอุปสรรคเส้นทางกับ Africa Twin ได้อย่างไร้กังวล ก็ล้วนได้ Honda DCT มาเป็นตัวช่วยสำคัญในการขับขี่ทั้งสิ้น เรียกว่า สำหรับใครที่อยากสัมผัสรถ Honda BigBike ที่มีการใช้งานระบบ Honda DCT สามารถตรงเข้าไปยังศูนย์บริการ Honda BigWing สาขาที่สะดวก เพื่อหารถคันที่ถูกใจได้เลยครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก aphonda
ฝึกใช้คลัตช์เพื่อควบคุมรถ BigBike ได้ดั่งใจ
ว่ากันว่าเสน่ห์อย่างหนึ่งของการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ BigBike คือการได้เข้าเกียร์ บีบคลัตช์ บิดคันเร่ง ตอบสนองไปพร้อม ๆ กับการมุ่งไปบนถนน ปลดปล่อยอารมณ์ได้แบบสะใจ ซึ่งเรื่องของการฝึกใช้คลัตช์ของรถ BigBike เป็นอะไรที่ลึกซึ้ง และเติมเต็มศักยภาพในการขับขี่เป็นอย่างยิ่ง เราเลยมีเทคนิคของการฝึกใช้คลัตช์มาฝากเพื่อน ๆ ให้ไปลองทําตามกันดู บอกเลยว่าดีกว่าที่คิดแน่นอน
1. โฟกัสที่คลัตช์ก่อน
เรื่องพื้นฐานที่สุดของการฝึกการควบคุมคลัตช์ คือการเรียนรู้กลไกของคลัตช์ ลองเริ่มจากการค่อย ๆ ปล่อยคลัตช์ช้า ๆ และคอยจับจังหวะที่รถเคลื่อนไหว หลังจากนั้นก็กําคลัตช์ใหม่ให้สุด เพื่อหยุดกลไกการเคลื่อนที่ของเครื่องยนต์ ลองทําซํ้าไป ซํ้ามา ก็จะได้รู้ระยะของคลัตช์ BigBike ของคุณ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการควบคุมอย่างแรก ๆ เลยก็ว่าได้ ยิ่งในส่วนของมือใหม่ ก็จะลดปัญหาการออกตัวดับ ได้เป็นอย่างดีอีกด้วยนั่นเอง
2. เพราะเข้าใจจึงควบคุมรถมอเตอร์ไซค์ ได้ดีมากขึ้น
รถมอเตอร์ไซค์ BigBike นั้นเราเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องเผชิญกับรถติด ในขณะเดียวกันก็ต้องมีจังหวะซอกแซกอยู่ประจํา จนเป็นภาพติดตา ในเมืองใหญ่ ๆ อยู่บ่อยครั้ง การใช้คลัตช์ให้สัมพันธ์กับการใช้คันเร่งและรอบของเครื่องยนต์ ก็เป็นสิ่งที่ต้องฝึก และเรียนรู้อยู่อย่างสม่ำเสมอ กล่าวคือ การเปลี่ยนเกียร์จําเป็นต้องสอดคล้องกับความเร็วที่ใช้งาน ดังนั้นการรู้จังหวะในการใช้คลัตช์ได้อย่างถูกต้อง และถูกช่วงเวลาของเครื่องยนต์ ก็เป็นสิ่งที่เพิ่มศักยภาพในการควบคุมรถและการขับขี่ให้มากขึ้นไปด้วยนั่นเอง
3. ขับขี่ได้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
เพราะรถมอเตอร์ไซค์ BigBike นั้นมีกําลังเครื่องยนต์ที่ค่อนข้างมาก ดังนั้นการใช้คลัตช์เพื่อนํามาช่วยในเรื่อง Engine Brake (ใช้แรงหน่วงของเครื่องยนต์ จากการลดเกียร์ลงมา เพื่อลดความเร็วขณะวิ่ง) จึงเป็นสิ่งจําเป็น หลายคนมักจะชอบกําคลัตช์เวลาเบรก ซึ่งเป็นสิ่งไม่ควรทํา ดังนั้นเราเพียงแค่ลดเกียร์ลงมาในอัตราที่เหมาะสม และปล่อยคลัตช์ไว้ เราก็จะได้ใช้งาน Engine Brake ซึ่งเมื่อใช้ควบคู่ไปกับการเบรกของ BigBike เอง ก็จะลดระยะในการเบรกลงได้อย่างมากเลยทีเดียว ช่วยให้ผู้ขับขี่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
4. ยืดอายุการใช้งานของรถคู่ใจ
หากคุณเรียนรู้ และใช้งานคลัตช์ได้อย่างถูกต้อง ผลดีที่ตามมานอกเหนือจากการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ได้ดียิ่งขึ้นนั้นยังเป็นการยืดระยะการใช้งานของ คลัตช์ เกียร์ และเครื่องยนต์ของรถ ให้ยาวนานมากยิ่งขึ้น และหลีกเลี่ยงอาการสึกหรอได้เป็นอย่างดี เพราะการดูแลใส่ใจ BigBike ถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่จําเป็นต้องมีสําหรับผู้ขับขี่ทุกคน
5. เพราะการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด
สําหรับใครที่รู้สึกว่าเทคนิคที่เราแนะนําไปคงยังไม่เพียงพอ ก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะสําหรับลูกค้า Honda BigBike สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมทักษะการขับขี่ กับศูนย์ฝึกอบรมที่มีมาตรฐาน พร้อมครูฝึกที่ได้รับการรับรอง และมีประสบการณ์พร้อมจะตอบทุกข้อสงสัย ได้ที่ ศูนย์ขับขี่ปลอดภัยฮอนด้า ที่จะทําให้การขับขี่ของคุณสนุกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้นได้อีกแน่นอน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก aphonda
ตัวจริงต้องรู้ ระบบ Anti-Wheelie ของมอเตอร์ไซค์ฮอนด้า
การพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับการแข่งขันรถมอเตอร์ไซค์ความเร็วสูงจากอดีต จวบจนปัจจุบัน ต้องบอกได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งครั้งนี้เราจะมาเรียนรู้อีกหนึ่งระบบสำคัญภายในโมเดลรถแข่งจาก Repsol Honda Team อย่าง RC213V นั่นก็คือระบบ “Anti-Wheelie Electronics” หรือระบบกันล้อหน้ายก ซึ่งสำหรับรถระดับ MotoGP ต้องบอกว่าเป็นระบบที่สำคัญและขาดไปไม่ได้เลยจริง ๆ
มาเข้าใจระบบการทำงานของ Anti-Wheelie กันก่อน โดยที่จะมีการวางจุดเซ็นเซอร์หลัก ๆ 3 ส่วน
1. เซ็นเซอร์วัดระยะยุบของโช้กหน้า
2. เซ็นเซอร์วัดความเร็วของล้อทั้งหน้าและหลัง
3. เซ็นเซอร์วัดระยะการเอียงของรถ
เพื่อประมวลผลในการขับขี่ด้วยพฤติกรรมต่าง ๆ ของตัวนักแข่ง จากการทำงานทั้ง 3 ส่วนนั้น ก็จะส่งข้อมูลเข้าสู่ กล่อง ECU (Electronic Control Unit) กล่องควบคุมหลักของรถมอเตอร์ไซค์เพื่อประมวลผล และทำงานโดยจะเป็นการลดอัตราการจ่ายน้ำมันหรือลดความเร็วลง เพื่อทำให้รถไม่เกิดอาการล้อหน้ายกขึ้นนั่นเอง
ทางด้านของประโยชน์โดยตรงของระบบนี้ต่อการแข่งขันนั้นก็คือ เมื่อนักแข่งอยู่ในจังหวะออกตัว เร่งแซง หรือออกจากโค้ง มักจะเปิดคันเร่งอย่างเต็มที่ ซึ่งถ้าหากว่าไม่มี Anti-Wheelie แล้วล่ะก็ ล้อหน้าก็มีโอกาสจะยกขึ้นมา ซึ่งวิธีแก้แบบเดิมก็คือต้องผ่อนคันเร่งลงมา แต่ก็จะทำให้ความเร็วลดลง ซึ่งจะทำให้เสียเปรียบในเรื่องของการแข่งขันอย่าง แต่ถ้ามี Anti-Wheelie แล้วนั้น ไม่ว่าจะออกจากโค้ง หรือออกตัว ก็สามารถเปิดคันเร่งทำความเร็วได้อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งนี่ก็คือความฉลาดของเทคโนโลยี “Anti-Wheelie Electronics” ที่ถูกบรรจุอยู่ภายใต้รถแข่งของ Repsol Honda Team ดีกรีแชมป์โลกอย่าง RC213V คันนี้นี่เอง
ขอขอบคุณขอมูลจาก aphonda
H.I.S.S. หรือ Honda Ignition Security System คืออะไร?
H.I.S.S หรือ Honda Ignition Security System นั้นคือระบบป้องกันการโจรกรรมลิขสิทธิ์เฉพาะรถมอเตอร์ไซค์ของ Honda ที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยต่อการใช้งาน และป้องกันการโจรกรรมได้มากขึ้นอีกด้วย
ปกติแล้วรถมอเตอร์ไซค์ส่วนใหญ่มักจะใช้กุญแจธรรมดาในการไขเปิดระบบการทำงานของรถมอเตอร์ไซค์คันนั้น ๆ ซึ่งหากว่าถูกก๊อปปี้ก็จะสามารถไขและสตาร์ทรถคันนั้นได้โดยง่ายดาย จึงเป็นที่มาของการคิดค้นกุญแจระบบ H.I.S.S. (Honda Ignition Security System) ที่ถูกสร้างมาเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีการฝังชิพใส่รหัสไว้ในตัวกุญแจ และบริเวณแม่กุญแจ (เบ้าเสียบกุญแจ) ก็ถูกติดตั้งระบบอ่านค่ารหัสกับชิพกุญแจว่ามีค่าตรงกันหรือไม่ แม้จะเสียบกุญแจเปิดได้ก็ตามที ซึ่งถ้าหากว่าไม่ตรงกัน ระบบก็จะสั่งการไปยังกล่องควบคุมการสตาร์ท ไม่ให้มีการใช้งานได้นั่นเอง ซึ่งเท่ากับว่าไม่สามารถสตาร์ทรถมอเตอร์ไซค์คันนั้นได้ ต้องบอกว่าเป็นการปิดตายสำหรับบรรดากุญแจผีต่าง ๆ ไปได้เลย นี่ก็ถือเป็นอีกระดับของความปลอดภัยที่ Honda ใส่เข้ามาในรถบิ๊กไบค์ หลังจากปี 1999 เป็นต้นมา
จวบจนถึงปัจจุบันรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ตั้งแต่ขนาด 500 Series อย่าง CBR500R ไปจนถึง GOLDWING ก็มีระบบ Honda Ignition Security System อยู่ครบทุกรุ่นแล้วเช่นเดียวกัน สัมผัสตัวเป็น ๆ และพร้อมเป็นเจ้าของได้แล้ว ที่ Honda BigWing ทุกสาขา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก aphonda
เทคนิคการควบคุมรถเข้าโค้งของรถบิ๊กไบค์ได้อย่างมั่นใจ
ว่ากันว่า หากคุณขับขี่รถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ได้ ไม่ใช่แค่รวดเร็วได้แต่ในทางตรง แต่สำหรับทางโค้งนั้น ก็ต้องขับขี่ได้อย่างเฉียบคมเช่นกัน นี่คือเคล็ดลับในการควบคุมบิ๊กไบค์ในการเข้าโค้ง ซึ่งแบ่งตามประเภท และการใช้งานมาให้ทราบกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้าของรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ หรือกำลังสนใจอยู่ ก็รู้ไว้ไม่เสียหลาย
Lean-in
การขับขี่รถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์เข้าโค้งในลักษณะนี้ ตัวผู้ขับขี่จะต้องเอียงตัวเอง โดยช่วงศรีษะและไหล่เข้าไปในโค้งมากกว่าปกติเล็กน้อย เพื่อทำให้การขับขี่มีความกระชับและมั่นใจมากยิ่งขึ้น เหมาะสมกับการขับขี่เข้าไปในบนถนนที่มีทางโค้งด้วยความเร็วปานกลางถึงสูง นอกเหนือจะเป็นความปลอดภัยในการควบคุมรถแล้วนั้น ยังได้ท่าทางที่ถูกต้องในการขับขี่อีกด้วย
Lean-out
คุณจะต้องเอียงตัวตรงกันข้ามกับรถในทางโค้ง หรือที่คุ้นเคยกันกับคำว่า Counter steering เช่น ถ้ารถเข้าโค้งไปทางซ้าย คุณต้องเอียงตัวออกมาทางขวา โดยการเหยียดแขน และลำตัวออกมาในทิศทางที่ตรงกันข้าม แบบวิธีเดียวกับรถมอเตอร์ไซค์ในสไตล์วิบาก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับการควบคุมรถที่จะทำให้คุณเลี้ยวโค้งในที่แคบได้ดีมากยิ่งขึ้น
Lean-with
ถือเป็นอีกหนึ่งท่าขับขี่ในการเข้าโค้งพื้นฐาน คือการให้สรีระของตัวเอง ไปพร้อม ๆ กับรถมอเตอร์ไซค์ โดยให้องศาของตัวผู้ขับขี่ไปกับการเลี้ยวเข้าโค้งของรถตามปกติ ซึ่งถือเป็นท่าการขับขี่ที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน และเป็นท่าพื้นฐานในการปรับตัวเข้ากับรถเองได้อย่างดี
Hang-on
คุ้นหน้าคุ้นตากันดีกับท่านี้ในสนามแข่ง ที่คุณต้องโหนลำตัวเข้าไปมากเกินกว่าตัวรถมอเตอร์ไซค์ โดยที่แขน และเข่ากางออกไป เพื่อเข้าโค้งที่มีความเร็วสูงเป็นพิเศษ ส่วนมากมักจะพบเห็นในการแข่งขัน ในสนามแข่งที่มีการควบคุมอย่างดี โดยต้องถือว่าเป็นอีกท่าในฝันของใครหลายคน ยามลงขับขี่ในสนาม และอยากเข่าเช็ดพื้นดูซักครั้ง ยังไงก็อย่าไปลองบนถนน แนะนำให้ไปฝึกในสนาม และมีผู้เชี่ยวชาญดูแลอย่างใกล้ชิดจะดีกว่า
ซึ่งวิธีการที่กล่าวมานั้น หากฝึกฝน และขับขี่จนชำนาญ ก็จะเลือกใช้วิธีเข้าโค้ง ได้ตามสถานการณ์ที่แตกต่างกันได้อย่างสบาย แถมยังสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ขับขี่ได้มากขึ้นอีกด้วย สําหรับลูกค้า Honda BigBike สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมทักษะการขับขี่ ได้ที่ ศูนย์ขับขี่ปลอดภัยฮอนด้า
ขอขอบคุณข้อมูลจาก aphonda
ตามรอยประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของ MotoGP
สำหรับคนที่ยังไม่ทราบหรือไม่ได้คลุกคลีสนใจในวงการรถมอเตอร์ไซค์สปอร์ต หากต้องนึกถึงการแข่งขันรถมอเตอร์ไซค์สักรายการหนึ่ง ชื่อของ MotoGP คงเคยผ่านเข้าหูมาบ้างไม่มากก็น้อย แล้วการแข่งขัน MotoGP ที่ว่านี้มันมีที่มาอย่างไร ทำไมถึงกลายเป็นการแข่งขันรถมอเตอร์ไซค์ทางเรียบที่มีชื่อเสียงโด่งดังและมีแฟน ๆ คอยติดตามอยู่ทั่วโลกกันได้ขนาดนี้ บทความนี้มีคำตอบให้ตามไปอ่านกันครับ
การแข่งขัน กรังด์ปรีซ์มอเตอร์ไซค์เคิลเรซซิ่ง (Grand Prix Motorcycle Racing) ถูกจัดตั้งขึ้นโดย Fédération Internationale de Motocyclisme (FIM) หรือ สมาพันธ์จักรยานยนต์นานาชาติ ซึ่งทำการจัดแข่งขันรถมอเตอร์ไซค์ทางเรียบโดยใช้ชื่อว่า GP เป็นครั้งแรกของโลกในปี 1949 หรือ พ.ศ. 2492 ซึ่งจัดได้ว่าเป็นการแข่งขันกีฬารถมอเตอร์ไซค์สปอร์ตระดับโลกที่เก่าแก่ที่สุด โดยมีการแบ่งรุ่นการแข่งขันออกเป็น 125 cc / 250 cc / 500 cc / Side Car 600 cc ตามลำดับ ในส่วนของกฎกติกาการแข่งขันรวมไปถึงสเปกต่าง ๆ ของเครื่องยนต์เองได้มีการเปลี่ยนแปลง และปรับปรุงอยู่เรื่อย ๆ เราได้สรุปเป็น Timeline ไว้ให้เข้าใจกันง่าย ๆ ตามนี้ครับ
– ปี 2002 ทาง FIM ออกกฎการแข่งขันใหม่ โดยอนุญาตให้ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันสามารถใช้เครื่องยนต์ 4 จังหวะ รวมถึงเพิ่มขนาดความจุของเครื่องยนต์เป็น 990 cc ซึ่งสาเหตุที่มีการเปลี่ยนแปลงก็เนื่องมาจากเครื่องยนต์ 2 จังหวะเริ่มไม่เป็นที่นิยมในตลาดนั่นเอง และในปีนี้เองที่ได้เปลี่ยนชื่อรายการเป็น MotoGP อย่างเป็นทางการ
– ปี 2007 ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงกฏกติกาใหม่อีกครั้ง โดยจำกัดเครื่องยนต์ที่ 800 cc
– ปี 2010 เริ่มเปลี่ยนรุ่น 250 cc ให้เป็น 600 cc 4 จังหวะ 4 สูบ ปีนี้เองที่ทางฮอนด้า เป็นผู้จัดเครื่องยนต์ให้ทีมต่าง ๆ เพื่อความเสมอภาคเท่าเทียมกันในการแข่งขัน และเรียกรายการนี้ว่า Moto2
– ปี 2012 เปลี่ยนกฎกติกาใหม่อีกครั้ง โดยกำหนดให้
- สำหรับรุ่น MotoGP รถที่เข้าร่วมการแข่งขัน ต้องมีเครื่องยนต์ขนาด 1000 cc 4 สูบ จะเป็นเครื่อง V (เครื่องยนต์ที่ออกแบบมาให้วางทำมุมกันราว ๆ 45 องศา โดยวัดจากแนวตั้งฉากของแนวชักลูกสูบ โดยจะมีการจุดระเบิดกันตามมุมองศา และรอบเครื่องตามแต่ที่แต่ละผู้ผลิตออกแบบมา) หรือเครื่อง In-Line (เครื่องยนต์แบบกระบอกสูบเรียง) ก็ได้ แต่ต้องมีแรงม้าไม่ต่ำกว่า 240 แรงม้า และน้ำหนักโดยรวมของรถต้องไม่ต่ำกว่า 160 กิโลกรัม
- สำหรับรุ่น Moto2 กำหนดให้ใช้เครื่องยนต์ 4 จังหวะ 600 cc 4 สูบ แบบ In-Line โดยทางฮอนด้าจะเป็นผู้ผลิต และส่งมอบเครื่องยนต์ให้ทุกทีมใช้งานเพื่อความเสมอภาคในการแข่งขัน ทั้งนี้ทุกทีมที่ได้รับเครื่องยนต์ไปแล้ว สามารถนำไปปรับแต่งเพิ่มเติมได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎและกติกาที่กำหนดไว้
- สำหรับรุ่นเล็กอย่าง Moto3 กำหนดให้ใช้เครื่องยนต์ 4 จังหวะ 250 cc 1 สูบ แรงม้าต้องไม่น้อยกว่า 55 แรงม้า โดยที่เครื่องยนต์นี้แต่ละทีมสามารถออกแบบได้เอง ส่วนกติกาอื่น ๆ มีกำหนดไว้ว่านักแข่งแต่ละคนต้องมีอายุไม่เกิน 28 ปี และสำหรับผู้ที่เข้าแข่งเป็นครั้งแรกต้องมีอายุไม่เกิน 25 ปี และน้ำหนักรวมของนักขับกับตัวรถต้องไม่น้อยกว่า 148 kg
ความพิเศษที่ทำให้ MotoGP แตกต่างจากการแข่งขันมอเตอร์ไซค์รายการอื่น ๆ นั่นก็คือ รถมอเตอร์ไซค์ทุกคัน จัดว่าเป็นรถต้นแบบที่ถูกผลิตเพื่อใช้แข่งขันรายการนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีวางจำหน่ายทั่วไปแต่อย่างใด จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกทีมสามารถทดสอบเทคโนโลยีใหม่ ๆ ลงไปในตัวรถได้อย่างเต็มที่ ทำให้แต่ละทีมสามารถนำผลลัพธ์จากการทดลองในการแข่งขันไปต่อยอดและพัฒนาในรถมอเตอร์ไซค์รุ่นที่จัดจำหน่ายทั่วไปได้อีกด้วย ต้องบอกว่าเป็นกีฬาแข่งขันที่พัฒนาไปพร้อมกับยุคสมัยจริง ๆ
ส่วนเรื่องประวัติศาสตร์ และความสำเร็จของแต่ละทีมนั้น ขออนุญาตเจาะไปที่ทีม Repsol Honda ซึ่งจัดได้ว่าเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จในรายการแข่งขันนี้อย่างล้นหลาม ขึ้นครองจ้าวแห่งรายการ MotoGP ได้อย่างภาคภูมิตั้งแต่ยุคสมัยของ “จิงโจ้ไฟ” Mick Doohan ที่คว้าแชมป์ 5 สมัย และการขึ้นโพเดี้ยมอย่างสะใจของ “เดอะ เคนตั๊กกี้ คิด” Nicky Hayden มาจนถึงยุคประวัติศาสตร์ของ “เจ้าหนูระเบิด” Marc Márquez นักบิดดาวเด่นจากสเปนที่จัดการทำลายทุกสถิติที่มี และก้าวขึ้นเป็นนักขับที่มีอายุน้อยที่สุดที่ได้แชมป์ MotoGP ด้วยวัยเพียง 20 ปีกับ 63 วัน
นอกจากเรื่องการปรับเปลี่ยนสเปกเครื่องยนต์ของการแข่ง และความไม่เหมือนใครของรถแข่งใน MotoGP แล้ว จำนวนสนามที่ใช้แข่งต่อ 1 ฤดูกาลก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน นับจากปี 1949 ที่มีการจัดแข่งเพียง 6 สนามต่อปี มาจนถึงปัจจุบันในปี 2018 มีการเพิ่มการแข่งขันต่อปีทั้งหมดถึง 19 สนามทั่วโลก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนไทย เพราะ 1 ใน 19 สนามนั้น คือสนาม Chang International Circuit ณ จังหวัดบุรีรัมย์นั่นเอง ซึ่งรอบการแข่งขันของ MotoGP จะเวียนมาถึงคิวของสนามช้างของเราในช่วงเดือนตุลาคม 2018 โอกาสดี ๆ แบบนี้บอกเลยว่าห้ามพลาด ร่วมไปส่งแรงเชียร์แรงใจ และร่วมชม Marc Márquez “เจ้าหนูระเบิด” สุดหล่อดีกรีแชมป์โลก “พ่อใหญ่จิ๋ว” Dani Pedrosa และความ Professional ของทีม Repsol Honda ด้วยสายตาคุณเอง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก aphonda
เผยเรื่องใกล้ตัว สิ่งที่ปกป้องนักแข่ง MotoGP
หลายคนคงเคยเห็นชุดที่บรรดานักแข่ง MotoGP ใส่ขี่รถมอเตอร์ไซค์ในสนาม ซึ่งนอกเหนือจากสีสันที่สวยงาม ความมีเอกลักษณ์ที่นักแข่งแต่ละคนสวมใส่ ยังเต็มไปด้วยรายละเอียด และเบื้องลึกมากมาย ซึ่งส่งผลต่อการแข่งขันอย่างที่เราคาดไม่ถึง มาดูกันว่า ภายใต้หมวกกันน็อกและชุดหนังเหล่านี้ มีอะไรซ่อนอยู่กันบ้าง
1. หมวกกันน็อก
หมวกกันน็อกของนักแข่งนั้นต้องเป็นแบบเต็มใบ มีคุณสมบัติหลักคือปกป้องศีรษะของนักแข่งรถมอเตอร์ไซค์ จากการล้มและกระแทกในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ในสนาม ที่สำคัญต้องเป็นสายรัดคางแบบ DD Ring (ใส่สายรัดเข้าไประหว่างห่วงเหล็ก 2 ชิ้น) ซึ่งจะกระชับและรัดแน่นยามสวมใส่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีล้มแล้วหมวกกระเด็นหลุดออกจากศีรษะ นอกจากการป้องกันที่ดีของหมวกแล้ว ต้องมีน้ำหนักเบาเพื่อเป็นการลดภาระให้นักแข่ง และออกแบบมารับกับแรงลมได้ดียามสวมใส่ในความเร็วสูง ซึ่งมีผลต่อทัศนวิสัยในการแข่งขันอีกด้วย
2. ชุดหนัง
ชุดของนักแข่งเป็นสิ่งที่สำคัญและมีรายละเอียดภายในอยู่เยอะมาก ภายนอกเป็นเหมือนหนังอีกชั้นหนึ่งของนักแข่งรถมอเตอร์ไซค์ ที่นอกจากจะยืดหยุ่นได้สูง เพื่อให้นักแข่งเคลื่อนไหวได้ง่ายขณะแข่งขันแล้ว ยังป้องกันผิวหนังตอนล้มไถลในระหว่างการแข่งขันได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ส่วนภายในชุดนักแข่งยังติดตั้งถุงลมนิรภัยใส่ไว้อีกชั้น โดยมีเซ็นเซอร์การ์ดป้องกันบริเวณต่าง ๆ ไล่จากโหนกที่นูนออกมาบริเวณหลัง หัวไหล่ หัวเข่า ข้อศอก ซึ่งจะเห็นได้ว่ารับการเสียดสีกับสนามได้เป็นอย่างดี ให้ลองคิดภาพ Marc Márquez เข้าโค้งด้วยความเร็วสูงแทบจะนอนไปกับพื้นสนามดูสิ
3. ถุงมือ
ถุงมือของนักแข่งต้องเป็นถุงมือข้อยาว เหตุผลก็เพราะว่าต้องช่วยล็อกข้อมือของนักแข่งรถมอเตอร์ไซค์ให้กระชับ และป้องกันข้อมือผิดรูปเมื่อเกิดอุบัติเหตุ โดยบริเวณภายในฝ่ามือก็ต้องมีจุดจับที่กระชับต่อคันเร่ง และมีคุณสมบัติทนต่อการเสียดสีได้เป็นอย่างดี เพราะการล้มแต่ละครั้งนั้น ฝ่ามือมักจะเป็นจุดแรกที่ไถลและสัมผัสไปกับพื้นสนาม ส่วนด้านหลังข้อมือและข้อต่อของนิ้ว มักจะเป็นการ์ดแข็ง ป้องกันการกระแทกด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งถุงมือหนังต้องแข็งแรงและทนทานต่อการใช้งานเพราะมือเป็นจุดที่บอบบาง และเสียหายแน่นอนถ้าบิดคันเร่งต่อไม่ไหว
4. รองเท้า
สิ่งสำคัญที่คอยปกป้องเท้าของนักแข่งรถมอเตอร์ไซค์นั้นก็พิเศษไม่เหมือนกับรองเท้าทั่ว ๆ ไป โดยจะเป็นวัสดุที่มีความยืดหยุ่นสูงและแข็งแรงอย่างมาก ส่วนปลายของรองเท้าถูกออกแบบมาให้สัมผัสกับการเข้าเกียร์ได้ง่ายยิ่งขึ้น และพื้นรองเท้าก็มียางป้องกันลื่นทำให้ขับขี่ได้มั่นใจ ซึ่งรองเท้าจะต้องมีความกระชับและสวมใส่ได้อย่างสบายเท้าอีกด้วย โดยนอกเหนือจากป้องกันอุบัติเหตุแล้วก็ถือเป็นแฟชั่นที่สร้างความสวยงามของนักแข่งแต่ละคนด้วยนั่นเอง
5. การ์ดป้องกัน
สิ่งสำคัญอีกชิ้นที่อยู่ภายในตัวของนักแข่งรถมอเตอร์ไซค์ บริเวณหน้าอก และหลัง เรามักมองไม่เห็นจากภายนอก เพราะมันอยู่ระหว่างร่างกายและชุดแข่ง บางรุ่นใส่ในชุดแข่ง บางรุ่นเป็นชิ้นแยกจากชุดแข่งเลย คุณสมบัติการ์ดชนิดนี้ จะช่วยผ่อนแรงกระแทกจากภายนอก ที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายในจุดสำคัญ การ์ดด้านหลังก็ช่วยป้องกันแผ่นหลัง และบริเวณกระดูกสันหลัง ส่วนการ์ดด้านหน้าก็จะป้องกันแรงกระแทกที่หน้าอกและซี่โครง ซึ่งผ่อนหนักเป็นเบาได้ดีทีเดียว
ชุดแข่งจึงเป็นอีกเคล็ดลับที่ช่วยให้นักแข่งขับรถมอเตอร์ไซค์ได้อย่างราบรื่น เพราะหลายต่อหลายครั้ง นักแข่งล้มรอบซ้อม หรือล้มระหว่างแข่ง แต่ก็ยังสามารถลุกขึ้นมาแข่งต่อได้ เพราะฉะนั้นนอกจากฝีมือและใจที่สู้ไม่ยอมแพ้แล้ว ชุดแข่งเหล่านี้จึงเป็นไอเท็มสำคัญที่ช่วยนักแข่งได้มากจริง ๆ ไม่เชื่อดู Marc Márquez เป็นตัวอย่างได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก aphonda
สัญลักษณ์ธงในการแข่งขัน MotoGP ที่ควรรู้
เนื่องจากในเดือนตุลาคมจะมีการแข่งขัน MotoGP สนามที่ 15 ซึ่งจะเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ณ จังหวัดบุรีรัมย์ และเพื่อทำให้การดู MotoGP สนุกมากยิ่งขึ้น การรู้จักสัญลักษณ์ธงถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ไม่ควรพลาดเพราะถือเป็นองค์ประกอบหลักของการแข่งขันในทุก ๆ สนาม ถ้าคุณอยากเป็นตัวจริงในการแข่งขัน MotoGP ต้องรู้ !!
1. ธงดำพร้อมเบอร์รถมอเตอร์ไซค์ – ทำผิดต้องออก
เป็นการแจ้งว่านักแข่งทำผิดกฎกติกา รถคันนั้นจะต้องเข้าพิทในรอบนั้นทันที และไม่สามารถกลับมาแข่งต่อได้อีก ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่าไหร่ สำหรับใครที่โดนโบกธงดำใส่ก็ไม่ต้องไปแข่งให้เหนื่อย ไปนั่งดูคนอื่นแข่งเงียบ ๆ ได้เลย แต่ก็ต้องหมดลุ้นการได้แต้มจากสนามนั้น ๆ ไปโดยปริยาย
2. ธงดำวงกลมส้ม – รถเสีย เกิดปัญหา
เป็นการบอกว่ารถคันนั้นอาจจะเกิดปัญหาขึ้นซึ่งประเมินแล้วอาจจะส่งผลเสียต่อตัวนักแข่งและการแข่งขัน จึงต้องออกจากการแข่งขัน ยกตัวอย่างเช่น รถมีควัน หรือ ไฟออกมาจากรถโดยไม่ทราบสาเหตุ ธงนี้ก็จะถูกโบกพร้อมกับเบอร์นั้น ๆ เป็นการแจ้งให้ทราบโดยทั่วกัน
3. ธงขาวลายกากบาท กับธงลายทางสีแดงบนพื้นสีเหลือง – ถนนเปียกลื่นระมัดระวัง
เมื่อเห็นธงทั้ง 2 ชนิดถูกโบกพร้อมกันในบริเวณสนาม นักแข่งที่ทำการแข่งขันทุกคนต้องทราบและระมัดระวังให้มาก เพราะนี่คือคำเตือนเรื่องของสภาพสนามที่เริ่มเปียกแฉะเนื่องจากน้ำฝน หรือมีคราบน้ำมันเครื่องที่อาจทำให้เกิดการลื่นและทำให้เสียสภาพการควบคุมระหว่างการแข่งขันได้ง่าย ๆ
4. ธงขาว – ถนนเปียก
เป็นการแจ้งเตือนนักแข่งว่าสนามเปียกและลื่นมากพอที่จะทำให้เกิดอันตรายหากไม่เปลี่ยนรถ โดยนักแข่งได้รับอนุญาตให้กลับเข้าพิทเพื่อเปลี่ยนรถและยางที่เหมาะกับสภาพสนามเปียกมากขึ้น ซึ่งก็อยู่ที่ทีมกับนักแข่งจะสื่อสารเรื่องเปลี่ยนยางกันอย่างไร เพื่อเตรียมลงมาแข่งขันกันต่อไปครับ
5. ธงเหลือง – ระมัดระวัง
มาถึงธงสีเหลืองกันบ้าง โดยการโบกธงเหลืองนั้นแบ่งการใช้งานตามสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป ในกรณีก่อนการแข่งขัน ถ้าโบกบริเวณแต่ละแถวของกริดสตาร์ท หมายความว่าการแข่งขันอาจมีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น ทำให้เกิดความล่าช้าจนต้องเลื่อนเวลาเริ่มแข่งออกไป แต่ถ้าโบกบริเวณแถวใดแถวหนึ่งของกริดสตาร์ท จะหมายถึงรถแข่งสักคันในแถวนั้น ๆ อาจจะมีปัญหาเกิดขึ้นทำให้ไม่พร้อมที่จะแข่งขันได้ในทันที
ส่วนในกรณีที่เริ่มแข่งไปแล้ว ถ้าเราเห็นธงสีเหลืองโบกบริเวณก่อนทางตรง หรือทางโค้งที่จะถึงในระหว่างการแข่งขัน นักแข่งต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้น เพราะบ่งบอกว่าอาจมีเหตุอันตรายบริเวณข้าง ๆ สนามแข่ง ให้นักแข่งลดความเร็วลง และห้ามแซงกันจนกว่าเหตุการณ์จะกลับสู่ปกติ แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการโบกธงเหลืองถึง 2 ธงด้วยกัน แสดงว่าอาจเกิดเหตุอันตรายและมีบางอย่างมากีดขวางบนสนามแข่ง ยกตัวอย่างเช่น มีรถล้มอยู่ข้างหน้า กีดขวางเส้นทางแข่งขัน ซึ่งเมื่อเราเห็นการโบกธงดังกล่าว สำหรับนักแข่งเองต้องลดความเร็วลงและเตรียมพร้อมที่จะหยุดรถ ห้ามแซงเด็ดขาดจนกว่าจะถึงจุดที่มีการเปลี่ยนมาโบกธงสีเขียวแทน (แข่งขันได้ต่อ) ซึ่งถ้านักแข่งฝ่าฝืนกฎของธงเหลือง จะมีผลต่อลำดับของการแข่งขันได้ เมื่อกลับมาแข่งต่ออีกครั้งหนึ่ง
6. ธงฟ้า – น็อกรอบ
เห็นธงสีนี้เป็นสัญญาณเตือนนักแข่งมอเตอร์ไซค์ ว่ามีรถด้านหลังที่เร็วกว่ากำลังจะน็อกรอบ ดังนั้นโปรดหลบเพื่อให้คันที่เร็วกว่าน็อกรอบแซงไปเลย เป็นการลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากรถที่มีความเร็วแตกต่างกัน อีกแง่หนึ่งนักแข่งที่ถูกโบกธงนี้ คงไม่มีใครรู้สึกดี เพราะไม่มีใครอยากถูกน็อกรอบในการแข่งขันระดับนี้ พูดแล้วก็เศร้า
7. ธงแดง – อันตราย
เป็นการบอกว่าหยุดการแข่งขันก่อน เพราะอาจจะเกิดความไม่ปกติในสนามแข่ง รถทุกคันจะต้องชะลอความเร็วและทยอยกลับเข้าพิท ซึ่งจะทำการแข่งขันต่อหรือไม่นั้น ก็ต้องมาดูเงื่อนไขของระยะต่อรอบที่ทำการแข่งขันไปก่อนหน้า โดยแบ่งให้เข้าใจง่าย ๆ ตามนี้
- แข่งขันไปได้ 3 รอบ หรือน้อยกว่านั้น
ในกรณีนี้ หากสามารถทำการแข่งขันต่อได้จะต้องแข่งใหม่ตั้งแต่ต้น แต่ถ้าหากไม่สามารถแข่งขันต่อได้ก็จะยกเลิกการนับคะแนนในสนามนั้นไปเลย
- แข่งขันไปได้มากกว่า 3 รอบ แต่น้อยกว่า 2/3 ของการแข่งในสนามนั้นสำหรับ Moto2 และ Moto3 หรือ 3/4 ของการแข่งในสนามนั้นสำหรับ MotoGP
หากนักแข่งสามารถทำการแข่งขันต่อได้ นักแข่งทุกคนจะกลับมาเริ่มที่จุดสตาร์ทใหม่อีกครั้ง โดยลำดับการออกตัวจะยึดตามลำดับของรอบล่าสุดก่อนที่ธงแดงจะโบก แต่ในกรณีที่ไม่สามารถแข่งต่อได้นั้น ก็จะยกเลิกการแข่งขันโดยจะนับคะแนนเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น
- แข่งขันไปได้มากกว่า 2/3 ของการแข่งในสนามนั้นสำหรับ Moto2 และ Moto3 หรือ 3/4 ของการแข่งในสนามนั้นสำหรับ MotoGP
การแข่งขันจะจบลง และนับคะแนนเต็มตามปกติ โดยยึดคะแนนตามลำดับรอบล่าสุดที่แข่งขันก่อนที่ธงแดงจะโบก
ถือว่าเป็นธงอีกสีที่ไม่มีใครอยากจะเห็นในการแข่งขัน เพราะนั่นหมายถึงมีเหตุการณ์อันตรายเกิดขึ้นแน่นอน
8. ธงเขียว – ลุยต่อได้
ธงเขียวมักจะใช้ต่อจากธงเหลืองเพื่อแสดงความปลอดภัยของสนามว่าสามารถดำเนินการแข่งขันต่อได้ตามปกติ และนอกจากนั้นยังใช้โบกในรอบแรกของ Practice Session (รอบซ้อม) และช่วง Warm Up ทั้งในรอบ Sighting Lap และ Warm Up Lap เพื่อเป็นการบอกว่าทางสะดวก ไม่มีอะไรมากีดขวางสนาม รวมถึงหากโบกธงเขียวบริเวณทางออกของพิทเลน ก็จะเป็นการบอกว่าพิทเลนได้เปิดแล้ว สามารถนำรถแข่งออกจากพิทลงสู่สนามได้เลย
9. ธงตราหมากรุก – จบการแข่งขัน
เป็นสัญญาณการสิ้นสุดการแข่งขันมอเตอร์ไซค์ในรอบนั้น ๆ ซึ่งใครที่ผ่านธงตราหมากรุกเป็นคนแรก ก็จะเป็นผู้คว้าชัยชนะในสนามนั้นไปครอง
การเรียนรู้สัญญาณต่าง ๆ จากสัญลักษณ์ธงในการแข่งขันนั้น นอกจากจะทำให้เราดู MotoGP ได้อย่างเข้าใจมากยิ่งขึ้นแล้วนั้น ยังทำให้รับรู้ได้อีกว่า การแข่งขันระดับโลก ย่อมมีรายละเอียด และมาตรฐานความปลอดภัยระดับโลกด้วยเช่นกัน เรื่องของ สัญลักษณ์ธง ถือเป็นตัวอย่างเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี นี่ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่นำมาฝากให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ก่อนไปเชียร์ด้วยกันที่บุรีรัมย์ แล้วพบกันครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก aphonda